จุดมุ่งหมายทางการศึกษาที่ใช้ในการเรียนการสอนโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังต่อไปนี้
ระดับ 1 จุดประสงค์ทั่วไป
เป็นจุดประสงค์ที่กำหนดความต้องการที่จะให้ผู้เรียนได้รับผลจากการศึกษาไว้กว้างๆ โดย ไม่ระบุพฤติกรรม จุดมุ่งหมายระดับนี้วัดได้ยาก สังเกตได้ยาก แต่จะต้องครอบคลุมพฤติกรรมย่อยต่างๆ ไว้ทั้งหมดเท่าที่ต้องการ เช่น
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต วิชาเอกพลศึกษา
มีจุดมุ่งหมาย
- เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางพลศึกษา และการกีฬาเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม
- เพื่อพัฒนาบุคคลให้มีความรู้ความสามารถทางพลศึกษา และสามารถสอนวิชาพลศึกษาได้
- เพื่อพัฒนาบุคคลให้เล่นกีฬาเป็น ตัดสินกีฬาเป็น และดำเนินการจัดการแข่งขันกีฬาต่างๆ ได้
ระดับ 2 จุดประสงค์เฉพาะวิชาหรือกลุ่มวิชา หรือกลุ่มประสบการณ์
จุดประสงค์เฉพาะวิชาหรือกลุ่มวิชาหรือกลุ่มประสบการณ์ เป็นจุดประสงค์ที่แยกย่อยมาจาก จุดประสงค์ทั่วไปของหลักสูตร โดยจะมีลักษณะที่มีความจำเพาะเจาะจงและอยู่ภายในขอบเขตของกลุ่มวิชา หรือมวลประสบการณ์เฉพาะกลุ่มนั้น ตัวอย่างเช่น
จุดมุ่งหมายของกลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 2521
- เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการคำนวณเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน
- เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาอื่น ๆ ที่อาศัยวิชาคณิตศาสตร์
- เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการคำนวณและรู้จักวิเคราะห์เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ในระดับสูงขึ้น
- เพื่อให้นักเรียนเข้าใจในลักษณะและประโยชน์ของวิชาคณิตศาสตร์อันจะนำไปสู่ความสนใจในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ต่อไป
- เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล และสามารถใช้เหตุผลในการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นระเบียบ ชัดเจนและรัดกุม
จุดประสงค์การเรียนรู้กลุ่มวิชาทักษะ (ภาษาไทย)
- ให้มีพัฒนาการทางภาษาในด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน
- ให้มีทักษะในการฟัง พูด อ่าน และเขียน โดยมีความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์อันเป็นพื้นฐานของการเรียนภาษา
- ให้สามารถใช้ภาษาติดต่อ ทั้งรับฟัง และถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
- ให้เข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ถูกต้องและใช้เวลาว่างในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติม จากหนังสือ สื่อมวลชน และแหล่งความรู้ต่างๆ
จุดประสงค์การเรียนรู้กลุ่มวิชาชีพครู
เพื่อให้ผู้ที่จะเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษามีความรู้และทักษะที่จำเป็นทางการบริหารในการประกอบอาชีพทางการศึกษา
ระดับ 3 จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม หรือจุดประสงค์การเรียนรู้
เป็นจุดประสงค์ที่แยกย่อยมาจากจุดประสงค์เฉพาะวิชา ที่มีลักษณะจำเพาะเจาะจงในขอบเขตเนื้อหาสาระเฉพาะอย่าง โดยอาจจะระบุว่าเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละเรื่องหรือแต่ละบทเรียนแล้ว ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นอย่างไรหรือต้องการให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ในสิ่งใดบ้าง โดยมักจะเขียนในรูปของจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม เช่น
จุดประสงค์การเรียนรู้ (จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม) วิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
- อธิบายความหมาย บอกลักษณะและยกตัวอย่างพยางค์ คำ และคำประสมได้
- ใช้คำสุภาพ คำราชาศัพท์ ตามความจำเป็นได้
- ปฏิบัติตนในคำพูดและพูดในโอกาสต่างๆ โดยใช้ภาษาพูดด้วยคำที่มีความเหมาะสมกับบุคคลและโอกาส
- เล่าเรื่องที่กำหนดให้ได้