ข้อสอบที่ใช้ในการสอบวัดแต่ละครั้งเป็นเพียงตัวแทนของคำถามที่นำไปใช้วัดความสามารถของผู้เรียนเท่านั้น จึงใช้ข้อสอบทำหน้าที่วัดเพียงบางส่วนแล้วนำผลไปสรุปเป็นความสามารถโดยส่วนรวมทั้งหมดของผู้เรียน จึงควรคำนึงถึงหลัก
สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
1. เขียนข้อสอบให้ครอบคลุม คำถามควรจะเป็นตัวแทนที่สามารถวัดได้ครบถ้วนทุกประสบการณ์การเรียนรู้และความสามารถ ซึ่งจะมีลักษณะดังนี้
1.1 เขียนข้อสอบทุกเรื่อง ทุกเนื้อหาที่สอน หรือที่มีในหลักสูตร
1.2 เขียนข้อสอบทุกพฤติกรรมการเรียนรู้ครบถ้วนตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
1.3 เขียนข้อสอบแต่ละเนื้อหาและพฤติกรรมอย่างได้สัดส่วน เนื้อหาใด พฤติกรรมใด มีความสำคัญมากก็ควรถามมาก ถ้าสำคัญน้อยก็ควรถามน้อย
วิธีการสร้างข้อสอบให้ครอบคลุมนั้น สามารถทำได้โดยอาศัยตารางวิเคราะห์หลักสูตร
2. เขียนข้อสอบถามแต่สิ่งที่สำคัญ เป็นการถามความสามารถในการเรียนรู้ที่มีความสำคัญหรือควรแก่การถาม หรือถามสิ่งที่เป็นแก่นสาร สาระสำคัญของเรื่องราว ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
2.1 เขียนข้อสอบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเรื่องราวสำคัญที่ควรรู้ และสามารถนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ หรือแก้ปัญหาในชีวิตของเด็กได้
2.2 เขียนข้อสอบถามสิ่งที่มีคุณค่าในวิชานั้นโดยตรง ถือว่าเป็นเรื่องราวที่เด็กควรทราบ ถ้าไม่ทราบสิ่งนั้นถือว่าไม่บรรลุเป้าหมายของการเรียนเรื่องนั้นอย่างแท้จริง
2.3 เขียนข้อสอบถามสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถของเด็ก
2.4 เขียนข้อสอบถามสิ่งที่มีข้อยุติแน่นอนตามหลักวิชา
3. เขียนข้อสอบถามให้เด็กได้ใช้ความคิด ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
3.1 เขียนข้อสอบไม่ถามตรงตามตำรา แต่ควรถามให้ต้องใช้ความรู้จากตำราที่เคยเรียนมาเป็นพื้นฐานเพื่อนำไปพิจารณาเปรียบเทียบ แปลความหมายต่ออีกชั้นหนึ่ง
3.2 เขียนข้อสอบไม่ถามตามที่ครูบอก ควรจะมีการพลิกแพลงคำถามให้เด็กต้องใช้สิ่งที่ครูบอกนำมาเป็นเพียงพื้นฐานของการคิดหรือพิจารณาต่อไป
3.3 เขียนข้อสอบไม่ถามสิ่งที่สังเกตเห็นได้จากสังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง
4. เขียนข้อสอบถามสิ่งที่เป็นแบบอย่างในทางที่ดี เพราะในช่วงเวลาของการสอบนั้นเด็กมีโอกาสที่จะเรียนรู้จากข้อสอบได้
5. เขียนข้อสอบถามให้จำเพาะเจาะจง ใช้คำถามที่ชัดเจน อย่าให้คลุมเครือจนเด็กแต่ละคนเข้าใจคำถามไปคนละทาง คำถามประเภทวกวน สองแง่สองมุม ควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยความสามารถในการใช้ภาษาของผู้เขียนข้อสอบ