การฝึกซ้อมจะส่งผลให้กล้ามเนื้อมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวเพิ่มความสามารถมากขึ้น ซึ่งการปรับตัวจะเป็นไปทั้งทางด้านโครงสร้างและหน้าที่การทำงานโดยจะขึ้นอยู่กับรูปแบบของการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ใช้แรงพยายามสูงในการปฏิบัติการเคลื่อนไหวจะเป็นการปรับปรุงทางด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายที่ใช้แรงพยายามปฏิบัติการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วจะเป็นการปรับปรุงทางด้านความเร็วในการหดตัวของกล้ามเนื้อ ขณะที่การออกกำลังกายที่ใช้แรงพยายามปฏิบัติการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องยาวนานจะเป็นการปรับปรุงทางด้านความอดทนของกล้ามเนื้อ

ชนิดของการพัฒนา (Types of Adaptation)
              การออกกำลังกายที่มีความแตกต่างกันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของเส้นใยกล้ามเนื้อที่แตกต่างกัน การออกกำลังกายประเภทความอดทน เช่น การวิ่งหรือว่ายน้ำอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะการทำงานของเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวเร็วบี (FTb) ไปเป็นเส้นใยชนิดหดตัวเร็วเอ (FTa) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของเส้นใยมีการแสดงให้เห็นว่ามีการเพิ่มขึ้นของไมโตคอนเดรีย ปริมาณหลอดเลือกแดง และความแข็งแรง การออกกำลังกายประเภทความอดทนจะเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบหัวใจไหลเวียนเลือดและระบบหายใจซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อได้รับออกซิเจนและคาร์โบไฮเดรตมากขึ้นแต่ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการเพิ่มขึ้นของมวลกล้ามเนื้อ ตรงกันข้าม การออกำลังกายประเภทความแข็งแรง ได้มีการแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาของสภาพชีววิทยา (Biological) จะเกิดขึ้นจากการปรับตัวทางด้านประสาท (Neurogenic) และกล้ามเนื้อ (Myogenic) ขององค์ประกอบภายในกล้ามเนื้อ การเปลี่ยนแปลงของประสาทจะเกิดขึ้นก่อนและการปรับปรุงเทคนิคจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการทำงานของหน่วยยนต์ (Motor Units) การระดมหน่วยยนต์ (Recruit) และการปรับปรุงการทำงานอย่างประสานสัมพันธ์ (Synchronize)ของหน่วยยนต์ ส่วนการพัฒนาทางด้านกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นภายหลังจากมีการพัฒนาทางระบบประสาทอย่างเต็มที่ โดยจะส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของความสัมพันธ์ (Coordination) ในการทำงานของระบบประสาทกล้ามเนื้อ คุณลักษณะของเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวช้า (ST)เปลี่ยนเป็นชนิดหดตัวเร็ว (FT) และกล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น (Hypertrophy) และความแข็งแรงของเส้นใยกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของขนาดกล้ามเนื้อจะเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยดังต่อไปนี้
   1. จำนวนของใยกล้ามเนื้อ (Myofibrils) (การเพิ่มขึ้นของขนาดกล้าม)
 
   2. ความหนาแน่นของหลอดเลือดฝอย (Capillaries Density) ต่อเส้นใยกล้ามเนื้อ (Muscle Fiber)
 
   3. จำนวนโปรตีนภายในเส้นใยกล้ามเนื้อ
 
   4. จำนวนเส้นใยกล้ามเนื้อทั้งหมด (Muscle Fibers)
 
              โดยการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อจะแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อช่วงสั้น (Short-term Hypertrophy) เป็นผลของการเพิ่มขึ้นของของเหลว (บวมน้ำ) ในกล้ามเนื้อ ในช่วงเวลา 2 – 3 ชั่วโมงหลังการฝึกซ้อมด้วยแรงต้านทานที่มีความหนัก การยกน้ำหนักที่มีความหนักจะเป็นผลทำให้มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณของน้ำในเซลล์ (Intracellular) ของกล้ามเนื้อ จึงทำให้ดูเหมือนว่ากล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เมื่อน้ำในเซลล์กล้ามเนื้อกลับคืนสู่กระแสเลือดหลังจากการฝึกซ้อม 2 – 3 ชั่วโมง ขนาดของกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้นในตอนแรกจะกลับคืนสู่ปกติ
 
              การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้ออย่างถาวร (Chronic Hypertrophy) เป็นผลของการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกล้ามเนื้อ คือ เส้นใยของกล้ามเนื้อมีขนาดเพิ่มขึ้น โดยมีความเชื่อว่าเป็นผลของปรับสภาพของร่างกาย ให้อยู่ในสภาพสมดุลระหว่างการใช้ไปและการสร้างขึ้นกลับคืน ขณะและหลังการฝึกซ้อมในแต่ละครั้งที่มีความหนักสูง ความเข้มข้นของโปรตีนในกล้ามเนื้อที่มีการทำงานจะลดต่ำลง ถ้าการอ่อนล้าของกล้ามเนื้อไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการพร่องลงของเอทีพี การฟื้นสภาพของนักกีฬาหลังการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง ร่างกายจะมีการสร้างโปรตีนขึ้นกลับคืนในกล้ามเนื้อที่มีการทำงาน แต่ด้วยเหตุที่ร่างกายไม่รู้ถึงระดับความเข้มข้นของโปรตีนที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อร่างกาย จึงมีการสร้างโปรตีนขึ้นกลับคืนในกล้ามเนื้อมากกว่าปกติ (ระดับก่อนฝึกซ้อม)ซึ่งจะเป็นผลทำให้ขนาดของเส้นใยกล้ามเนื้อมีการเพิ่มขึ้น
 
              การเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อยังอาจจะเป็นผลของฮอร์โมนเทสโทสเดอโรน ซึ่งพบว่ามีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ถ้าพิจารณาถึงคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อระหว่างเพศชายและเพศหญิงจะพบว่ากล้ามเนื้อของเพศชายและเพศหญิงจะไม่แตกต่างกัน แต่ปกตินักกีฬาชายจะมีขนาดของกล้ามเนื้อใหญ่กว่า ความแตกต่างนี้จะเป็นผลของความเข้มข้นของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเพศชายจะมีมากกว่าเพศหญิงถึงประมาณ 10 เท่า อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฮอร์โมนเทสโทสเตอรโรนดูเหมือนจะสนับสนุนการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเพียงอย่างเดียวจะสนับสนุนให้มีการเพิ่มขึ้นของขนาดกล้ามเนื้อ
 
              

นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ที่ว่าการเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้ออาจจะเป็นการสนับสนุนของการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวช้า (ST) ไปสูเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวเร็ว (FT) จากการฝึกซ้อมด้วยน้ำหนัก ซึ่งจะตรงข้ามกับการออกกำลังกายประเภทความอดทนจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวช้า ขณะที่การปรับตัวของกล้ามเนื้อจากการฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือเพื่อเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่การฝึกเพื่อเพิ่มความอดทนของกล้ามเนื้อจะแตกต่างออกไป การออกกำลังกายประเภทอดทนจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวเร็วเป็นตัวเร็วเอ (Type IIa) เพราะเส้นใยกล้ามเนื้อชนิดหดตัวเร็วเอ มีความสามารถในการทำงานแบบใช้ออกซิเจนได้ดีกว่าชนิดหดตัวเร็วบี

 

   
 
โครงการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพร     
ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร 86190 โทร. 0-7753-4279 โทรสาร. 0-7753-4277