มลพิษทางอากาศ

  มลพิษทางอากาศหรืออากาศเสีย (Air  pollution) หมายถึง สภาวะที่บรรยากาศ
มีสารมลพิษต่าง ๆ ปะปนอยู่ในอากาศซึ่งปริมาณมากกว่าปกติ และก่อให้เกิดอันตราย
ต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ โดยทั่วไปอากาศจะมีของผสมต่าง ๆ
 
ของผสมที่มีในอากาศตามสภาวะปกติ
ถ้าของผสมเหล่านี้มีปริมาณเปลี่ยนแปลงไปจากเกณฑ์ปกติ  แสดงว่าอากาศเสีย
หรือเกิดมลพิษในบริเวณดังกล่าว
  แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
  แหล่งที่ทำให้อากาศเสีย สามารถจำแนกออกได้  7  แหล่งคือ
1.
การคมนาคมขนส่ง  เกิดจากการที่ยานพาหนะประเภทต่าง ๆ ปล่อยไอเสียออกสู่
บรรยากาศ ซึ่งประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และ
สารตะกั่ว ก๊าซจากท่อไอเสียที่เกิดจากยานพาหนะส่วนใหญ่ เป็นคาร์บอนมอนอกไซด์
ประเภทร้อยละ  64.5
    การจราจรที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ
     
    2.
    การใช้เชื้อเพลิงในที่พักอาศัย  ซึ่งเป็นผลกระทบจากการใช้เชื้อเพลิงในการหุงต้ม
    หรือใช้ในกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ฟืน ถ่าน หรือก๊าซหุงต้ม ก๊าซที่เกิดจากเชื้อเพลิง เช่น
    คาร์บอนมอนอกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และควัน เป็นต้น
    ผลกระทบของการใช้เชื้อเพลิงในที่พักอาศัยมีประมาณร้อยละ 20.4 ส่วนการใช้
    เชื้อเพลิงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้ามีประมาณร้อยละ 24.7
    3.
    โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีการใช้เชื้อเพลิงประเภท ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และ
    น้ำมัน สารมลพิษที่เกิดขึ้นประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
    ไฮโดรคาร์บอนฝุ่นละออง ควัน ไอตะกั่ว และสารกัมมันตรังสี เป็นต้น
    4.
    การเผาขยะมูลฝอย อันเป็นวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณมาก ๆ ทำให้
    เกิดก๊าซพิษออกมาหลายชนิด เช่น ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน
    คาร์บอนมอนนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์
    มลพิษทางอากาศ
    5.
    การเกษตรกรรม เกิดในบริเวณที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง ยาปราบวัชพืช การเผาไร่
    นาทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของสารพิษจากยาฆ่าแมลง  และยาปราบวัชพืช
    ฝุ่นละออง และไฮโดรคาร์บอน
    6.
    การระบาดของสารบางชนิด เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง สี แลคเกอร์ เป็นต้น การระเหย
    ของสารเหล่านี้ ทำให้เกิดก๊าซไฮโครคาร์บอน หรือสารระเหยอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น
    ทินเนอร์ แอลกอฮอล์
    7.
    จากธรรมชาติ ที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น
      7.1 ภูเขาไฟ  เป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดสารมลพิษทางอากาศหลายชนิด เช่น ฟลูม
    ควัน ก๊าซ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโครเจนซัลไฟด์ มีเทน เป็นต้น
      7.2 ไฟป่า เกิดจากการเสียดสีของต้นไม้ใบหญ้าในพื้นที่ป่าทำให้เกิดการลุกไหม้
    เนื่องจากอากาศมีอุณหภูมิสูงและแห้ง สารพิษที่เกิดจากไฟป่า ได้แก่ ควัน เถ้า
    ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์
    ของซัลเฟอรเป็นต้น
      7.3 การเน่าเปื่อยและการหมัก ของอินทรีย์สารและอนินทรีย์สารโดยจุลินทรีย์และ
    ปฏิกิริยาเคมีทำให้เกิดสารมลพิษสู่อากาศ เช่น ออกไซด์ของคาร์บอน แอมโมเนีย
    ไฮโดรเจนซัลไฟด์เป็นต้น
      7.4 การฟุ้งกระจาย มักเกิดจากกระแสลมทำให้ดิน เมล็ดพืช สปอร์หรือเกสร
    ของพืชฟุ้งกระจายในอากาศ อันทำให้เกิดสารมลพิษในรูปของอนุภาคของแข็ง เช่น
    ฝุ่น เปลือกของเมล็ดพืช ส่วนการฟุ้งกระจายของน้ำทะเลหรือมหาสมุทรทำให้เกิด
    มลพิษในรูปอนุภาคของแข็งและของเหลว โดยเฉพาะอนุภาคของเกลือ
      ประเภทของสารมลพิษในอากาศ
      สารพิษประเภทต่าง ๆ ที่เจือปนอยู่ในอากาศ ประกอบด้วย
    1.
    อนุภาคต่าง ๆ เป็นอนุภาคขนาดเล็กที่ลอยไปตามกระแสลม จัดเป็นสิ่งแวดล้อมใน
    อากาศ ซึ่งอาจเป็นทั้งของแข็งและของเหลว ดังนี้
      1.1 ฝุ่นละออง เป็นอนุภาคของแข็งเกิดจากการบด ขัดสี ทุบ ป่น ระเบิด โม่ของ
    อินทรีย์สารและอนินทรีย์สารที่ปล่อยสู่บรรยากาศ และสามารถล่องลอยในอากาศ
    ได้ระยะหนึ่ง จึงตกสู่พื้นดินยกเว้นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน
    (0.005 มิลลิเมตร) ที่สามารถล่องลอยในอากาศไปตามประแสลมโดยไม่ตกสู่พื้น
    ฝุ่นละอองที่เป็นพิษ เช่น แอสเบสทอส สารหนู ตะกั่ว ซิลิกา ยูเรเนียม
      1.2 ควัน เป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก (ขนาดเล็กกว่า 0.001 มิลลิเมตร)
    สามารถ แขวนลอยในอากาศได้ เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์  ส่วนใหญ่เป็นพวก
    คาร์บอนและสารลุกไหม้ได้ชนิดอื่น ๆ
      1.3 ขี้เถ้า เป็นอนุภาคขนาดเล็กมากของสิ่งที่เหลือจากการเผาไหม้ซึ่งปะปนอยู่
    ในก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้
      1.4 เขม่า เป็นอนุภาคที่เกิดจากการรวมตัวของอนุภาคขนาดเล็ก ๆ ของคาร์บอน
    ที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของวัตถุพวกที่เป็นคาร์บอน และมีสารพวกทาร์
    (tar) ซับอยู่ด้วย
      1.5 ฟูม เป็นอนุภาคที่เป็นของแข็งมีขนาดเล็กมา (เล็กกว่า 0.001 มิลลิเมตร)
    มักเกิดจากการควบแน่น (condensation)  ของไอ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี
    บางอย่างการหลอมโลหะหรือการเผาไหม้สารที่มีโลหะผสมอยู่  ตัวอย่างของฟูม เช่น
    ออกไซด์ของโลหะต่าง ๆ รวมทั้งออกไซด์ของตะกั่วที่เกิดจากการเผาไหม้ของ
    น้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์
      1.6 ละออง  เป็นอนุภาคของเหลวที่เกิดจากการควบแน่นของไอหรือก๊าซต่าง ๆ
    หรือ เกิดจากการแตกตัวของของเหลวจากกระบวนการบางอย่าง เช่น การพ่น การฉีด
    ของเหลวในอากาศ
    2.
    ก๊าซและไอต่าง ๆ เป็นสารพิษที่อยู่ในรูปของก๊าซชนิดต่าง ๆ รวมทั้งไอที่
    ฟุ้งกระจายในอากาศ ซึ่งได้แก่
      2.1 คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide. CO2) เป็นก๊าซที่เกิดจากในวงจร
    คาร์บอนชีวาลัย (biosphere) จัดเป็นองค์ประกอบตามปกติของอากาศ ไม่มีสี
    ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้เล็กน้อย สามารถดูดซับแสงแดดได้ดี และเป็นประโยชน์ต่อพืช
    และสัตว์ คาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศที่มีปริมาณมากเกินไปจากการสันดาปของ
    เชื้อเพลิง จะทำให้เกิดการกัดกร่อนวัสดุสิ่งของต่าง ๆ ที่ทำด้วยหิน เพราะ
    ถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ละลายน้ำ หรือเป็นไอน้ำจะมีฤทธิ์เป็นกรด
      2.2 คาร์บอนมอนอกไซด์ (Cabonmonoxide. CO)  เป็นก๊าซที่เกิดจากการ
    เผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของคาร์บอนหรือสารประกอบคาร์บอนต่าง ๆ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
    ไม่มีรส ติดไฟได้เบากว่าอากาศเล็กน้อย ไม่เกิดความระคายเคือง แต่เป็นก๊าซที่
    มีอันตรายต่อสุขภาพมากเพราะเมื่อหายใจเข้าไปในร่างกายจะถูกปอดดูดซับและทำ
    ปฏิกิริยากับ ฮีโมโกลบิน (haemogolbin) หรือ ฮีโมโปรตีน (haemoprotein)
    ในเลือดกลายเป็นคาร์บอนซีฮีโมโกลบิน (Carboxy-haemoglobin) ทำให้ร่างกาย
    ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และเกิดอาการเจ็บป่วย เช่น หายใจ
    เร็วกว่าปกติ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนเพลีย อาเจียน มึนศีรษะ หน้ามืด พูดจา
    เลอะเลือนเป็นลม ปวดชักกะตุก หมดสติ และเสียชีวิตได้
      การเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในบรรยากาศ มีแหล่งกำเนิดจากธรรมชาติ
    เครื่องยนต์ของยานพาหนะ และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ
      2.3 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sulfur  Dioxide. SO2) ที่เกิดจากการเผาไหม้
    ของซัลเฟอร์หรือเชื้อเพลิงที่มีซัลเฟอร์ปะปนอยู่ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน เป็นก๊าซไม่มีสี
    ไม่ติดไฟ ถ้ามีความเข้มข้น จะทำให้เกิดรสชาติ มีกลิ่นฉุนชวนสำลัก จุดเดือดต่ำมาก
    ละลายน้ำได้ดีและกลายเป็นกรดซัลฟูรัส ทำให้เกิดกลิ่นฉุน และก่อให้เกิดอาการ
    ระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ แสบจมูกและคอ หรือเป็นโรคมะเร็งปอด
      2.4 ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen  Dioxide. NO2)  เป็นก๊าซที่เกิดจาก้
    การเผาไหมเชื้อเพลิงจำพวกถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลี่ยม ก๊าซธรรมชาติ ที่มีอุณหภูมิ
    สูงกว่า 550  องศา  เซลเซี่ยล มีสีน้ำตาลแดง กลิ่นฉุน และเป็นองค์ประกอบสำคัญของ
    ปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้เกิดมลพิษเป็นหมอกกรด (acid jeg) และฝนกรด (acid  rain) 
    ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ มีฤทธิ์ในการกัดกร่อนและสร้างความระคายเคืองเมื่อสูดดม
    ถ้ามีสารประกอบประเภทอินทรีย์สารปนอยู่จะทำให้เกิดกลิ่นคล้ายปลาเน่า
      2.5 โอโซน (Ozone. O3)  เป็นก๊าซที่เกิดจากปรากฎการณ์ในธรรมชาติ เช่น
    ฟ้าแลบฟ้าร้อง  ฟ้าผ่า และจากการเชื่อมโลหะ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องปรับอากาศ
    เป็นต้น โอโซนมีสีน้ำเงินจาง กลิ่นแหลมฉุนแสบจมูก และมีความเป็นพิษสูงทำให้หาย
    ใจไม่สะดวก ปอดบวม
    3.
    โลหะหนักและสารกัมมันตรังสี เป็นอนุภาคของโลหะหนักที่ปะปนในอากาศ เช่น
      3.1 ตะกั่ว เป็นโลหะที่เกิดตามธรรมชาติในเปลือกโลกสีเทาเงิน หรือแกมน้ำเงิน
    สารตะกั่วเป็นสารที่ใช้เติมในน้ำมันเบนซิน เพื่อให้เครื่องยนต์เดินเรียบไม่กระตุกเมื่อ
    ถูกสันดาป จะกลายเป็นตะกั่วออกไซด์ระบายสู่อากาศพร้อมไอเสียที่พ่นออกจากรถยนต์
    ที่ใช้น้ำมันเบนซินฟุ้งกระจายในบรรยากาศ และสะสมในร่างกายทำให้เป็นโรคโลหิตจาง
    โรคสมองอักเสบ เซื่องซึม กระวนกระวาย หงุดหงิด กล้ามเนื้อกระตุก ภาพหลอน
    ความจำเสื่อม เพ้อ คลั่ง ชัก และเป็นอัมพาตในที่สุด
      3.2 แคดเมียม  เป็นอนุภาคโลหะที่เกิดจากการหลอมโลหะพบมากในบริเวณ
    โรงงานถลุงเหล็ก โรงงานพลาสติก ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง คลื่นไส้ อาเจียน
    และกัดกร่อนทำลายกระดูก
      3.3 ปรอท เป็นอนุภาคของโลหะที่เกิดจากการฟุ้งกระจายในโรงงานอุตสาหกรรมที่
    ใช้ปรอทเพื่อประกอบการ เช่น โรงงานเภสัชกรรม โรงงานพลาสติก โรงงานทำ
    กระจกเงา เป็นต้น ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร
    ทางเดินปัสสาวะ และไตอักเสบ
      3.4 ฟลูออรีน  เป็นอนุภาคของโลหะที่พบมากในโรงงานอุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี หรือ
    โรงงานอลูมิเนียม ส่งผลกระทบต่อร่างกายทำให้มีอาการคลื่นไส้  อาเจียน น้ำหนักลด
    อย่างรวดเร็ว ท้องเดิน  กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย  และเสียชีวิตได้
      3.5 กัมมันตรังสี  เป็นอนุภาคของสารกัมมันตรังสีประเภทต่าง ๆ ที่เกิดจากการใช้
    เครื่องมือทางการแพทย์หรือในวงการวิทยาศาสตร์ เช่น เครื่องเอ็กซเรย์ เ
    รดิโอไอโซโทป์ เรเดี่ยมโล เซอร์  อาวุธนิวเคลียร์  เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู  ให้ผล
    ตกค้างในร่างกายและก่อให้เกิดโรคมะเร็งตามอวัยวะต่าง ๆ หรือมีอาการระคายเคือง
    ของเยื่อบุและผิวหนังตามร่างกาย
      อันตรายจากมลพิษทางอากาศ
      สารมลพิษที่ปนเปื้อนในอากาศก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนี้
    1.
    ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ อันเกิดจาก
    การสูดดมสารมลพิษที่ปะปนในอากาศ ได้แก่
      1.1 คาร์บอนมอนอกไซด์ ทำให้ขาดออกซิเจน หมดสติ ขาดความจำ หัวใจวาย
      1.2 ไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้เกิดอาการปอดบวมและอาจถึงตาย
      1.3 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เป็นโรคปอด โรคหัวใจ  และโรคมะเร็ง
      1.4 โอโซน มีส่วนทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง  เนื่องจากอุลตราไวโอเลตกระจายสู่
    พื้นดินได้มากขึ้น
      1.5 ฝุ่นละออง และเขม่าควัน ทำให้เป็นหวัด หลอดลมอักเสบ
      1.6 สารตะกั่ว ทำลายระบบประสาทของมนุษย์ เกิดอัมพาตในร่างกาย ทุพพลภาพ
    และโรคโลหิตจาง
      ความเจ็บป่วยจากมลพิษทางอากาศอาจเป็นการตายเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังที่ทำ
    ให้การเจริญเติบโตไม่ดีเท่าที่ควรและเป็นปัญหาสุขภาพให้กับคนในชุมชนด้วย
    2.
    ก่อให้เกิดเหตุรำคาญ  ถ้าระดับมลพิษไม่รุนแรงมากเกินไป จะสร้างความ
    เดือดร้อน รำคาญจากฝุ่น  กลิ่น  ขี้เถ้า ควัน เพราะทำให้หายใจไม่สะดวก มีอาการ
    ระคายเคือง มีกลิ่นเหม็นรบกวน หงุดหงิดรำคาญ
    3.
    เป็นอันตรายต่อพืช ซึ่งเป็นผู้ผลิตในระบบนิเวศทำให้ผู้บริโภคในระดับต่าง ๆ ขาด
    แคลนอาหาร เนื่องจากห่วงโซ่อาหารเกิดภาวะไม่สมดุล เพราะมลพิษในอากาศทำให้
    เซลล์ของพืชตายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคลอโรฟิลล์ถูกทำลาย  หรืออาจทำให้คุณภาพ
    ผลผลิตของพืชด้อยลง เช่น ดอกไม้มีรอยด่าง สีจาง ไม้ผลเติบโตได้ช้าหรือใบ
    เป็นสีเหลือง
    4.
    ส่งผลกระทบต่อสัตว์  ถ้าสัตว์ได้รับมลพิษจากการหายใจเอาอากาศที่มีสารพิษเข้าสู่
    ร่างกายโดยตรง หรือจากการกินพืชที่มีสารมลพิษสะสมอยู่จะทำให้เกิดเจ็บป่วย
    แคระแกร็นและตายในที่สุด  อาการเจ็บป่วยที่พบในสัตว์มักไอ จาม น้ำมูกน้ำตาไหล 
    หงอยซึม ทางเดินหายใจอักเสบ ถ้าสัตว์ที่สะสมสารมลพิษในรางกายถูกนำมาบริโภค
    ย่อมเป็นการถ่ายทอดสารพิษเข้ามาในร่างกายของมนุษย์
    5.
    ทำลายวัสดุสิ่งของและสิ่งก่อสร้าง ซึ่งเกิดจากสารปนเปื้อนหรือสารมลพิษในอากาศ
    เช่น
      5.1 ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) ทำให้เกิดการกัดกร่อนของเนื้อเหล็กและมี
    อายุการใช้งานสั้นลง
      5.2 ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ทำให้ลวดสปริงเสียทรง
      5.3 ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ทำให้เนื้อผ้าอ่อนยุ่ย
    เปรอะเปื้อน และสีเปลี่ยนแปลง
      5.4 ซัลไฟด์  โอโซน หรือไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้สีที่ทาอาคารหรือวัสดุต่าง ๆ
    ลอกหลุด
      5.5 ซัลเฟอร์ไดออกไซด์  ทำให้คาร์บอเนตละลายหรือกัดกร่อน เกิดคราบดำ
    ของเขม่าหรือควัน
    6.
    บดบังแสงสว่าง การเกิดมลพิษทางอากาศทำให้เกิดหมอก ควัน ไอควัน และ
    ฝุ่นละอองต่าง ๆ ที่บดบังแสงได้ นอกจากนี้ ก๊าซที่เป็นสารมลพิษ เช่น ไนโตรเจน
    ไดออกไซด์ มีคุณสมบัติดูด ซับแสงได้ดี ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นอุปสรรค
    ต่อการคมนาคมขนส่งอาจก่อให้เกิด อุบัติเหตุ เนื่องจากทัศนวิสัยไม่ดีและยังเป็น
    อุปสรรคต่อการสังเคราะห์แสงของพืชอีกด้วย
      การควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ
      จากผลเสียของมลพิษทางอากาศที่ทำลายสุขภาพของมนุษย์  และทำลาย
    สิ่งแวดล้อมดังกล่าว จึงเป็นความจำเป็นที่ต้องควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ
    เพื่อสุขภาพที่ดีของมนุษย์และโลกนิเวศ
    1.
    ใช้กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ
    มลพิษทางอากาศ เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินกลยุทธ์
    บังคับใช้ และให้ประสิทธิผลในทางปฏิบัติ ซึ่งจะนำไปสู่การควบคุม ป้องกัน และแก้ไข
    มลพิษทางอากาศ เพื่อรักษาอากาศให้มีคุณภาพที่ดี ไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพของ
    ของประชาชนและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งมีชีวิตและสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ
    ลักษณะของกฎหมายเพื่อควบคุมสภาวะมลพิษทางอากาศจะแตกต่างกันไปในแต่ละ
    ประเทศ แล้วแต่ลักษณะของจารีตประเพณี และธรรมเนียมด้านการจัดการบริหาร
    และด้านนิติบัญญัติของประเทศนั้น ๆ โดยทั่วไปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและ
    รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมมีการจัดทำเป็น 2 แนวทางคือ
      1.1กฎหมายที่ประกอบด้วยกฎหมายอื่น ๆ หลาย ๆ ฉบับ โดยแต่ละฉบับมีขอบข่าย
    จำกัดเฉพาะการป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือการควบคุมภาวะมลพิษเรื่องใด
    เรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น กฎหมายควบคุมมลพิษทางอากาศ กฎหมายควบคุมมลพิษ
    ทางน้ำ และกฎหมายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
      1.2กฎหมายที่เป็นฉบับเดียว เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมการ
    ป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือการควบคุมภาวะมลพิษในทุก ๆ ด้านจากการประกอบ
    กิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติ
    ส่งเสริมและรักษาสุขภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518  ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานที่มี
    ขอบข่ายกว้างขวางครอบคลุมการป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการ
    ควบคุมมลพิษทุก ๆ ด้าน รวมถึงการป้องกันและรักษาคุณภาพอากาศและการควบคุม
    ภาวะมลพิษทางอากาศด้วย
      กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมภาวะมลพิษทางอากาศของ
    ประเทศไทยปัจจุบัน ประกอบด้วย
      1. พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2518,
    2521, 2522 และ 2535
      2. พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2484, 2495, 2497, 2505, 2527 และ
    2535
      3. พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512, 2518, 2522 และ 2535
      4. พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และ 2535
      5. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ 2535
      6. พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522
      7. พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2521
      8. พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
    พ.ศ. 2503
    2.
    กำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ เพื่อเป็นเกณฑ์ในการรักษาคุณภาพอากาศใน
    บรรยากาศให้อยู่ในสภาพที่ดี ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ
    และแหล่งกำเนิดที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ
      2.1 มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ออกตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและ
    รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535
    ค่ามาตรฐานของก๊าซและสารในบรรยากาศโดยทั่วไป
      2.2 การกำหนดปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายจากโรงงาน ออกตาม
    พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่  2
    (พ.ศ. 2536)
     
    ค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายจากโรงงาน
           
    3.
    การวางผังเมือง เพื่อกำหนดเขตโรงงานที่มีไอเสียให้อยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่
    ห่างไกลจากชุมชนมีการบำบัดไอเสียอย่างถูกหลักวิชาการก่อนปล่อยสู่อากาศ และ
    ทำให้เกิดความสะดวกในการควบคุมตรวจสอบ
    4.
    การควบคุมการปล่อยสารปนเปื้อนหรือลดการผลิตสารปนเปื้อนจากแหล่งกำเนิด
    สารปนเปื้อน โดยให้มีสารปนเปื้อนออกมาในปริมาณที่น้อยที่สุด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่
    ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและผลเสียอื่น ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปล่อย
    สารปนเปื้อนหรือลดการผลิตสารปนเปื้อนจากแหล่งกำเนิดสามารถกระทำได้หลายวิธี
    เช่น
      4.1 การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตหรือวิธีการผลิต ในกระบวนการ
    อุตสาหกรรมหรือกระบวนการอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ เช่น
      4.1.1 การใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงแทนการใช้ถ่านไม้ในการ
    หุงต้มเพื่อให้การสันดาปดีขึ้น
      4.1.2 การเปลี่ยนปฏิกิริยาเคมีเพื่อลดสารปนเปื้อน เช่น โรงงานผลิตกำมะถันที่
    ใช้วิธีการผลิตแบบกระบวนการสัมผัสแบบสองชั้นจะช่วยลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
    ออกมาปฏิกริยาในอัตรา  400 – 500 พีพีเอ็ม ขณะที่วิธีการผลิตแบบกระบวนการ
    สัมผัสชั้นเดียวจะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกมาถึง 2,000 – 3,000 พีพีเอ็ม
      4.1.3 ควบคุมการระเหย  ในกระบวนการที่มีการระเหยของสารมลพิษ เช่น
    โรงงานผลิตกรดดินประสิว ถ้าใช้การดูดกลืนในความดันปกติจะทำให้ก๊าซ
    ไนโตรเจนออกไซด์ปะปนในอากาศประมาณ 1,500 – 2,500 พีพีเอ็ม  แต่ถ้าให้มี
    การดูดกลืนภายใต้ความดันสูงและมีการหล่อเย็นป้องกันการระเหย จะลดปริมาณ
    ไนโตรเจนออกไซด์ให้เหลือประมาณ 500 พีพีเอ็ม
      4.1.4 การบดขูดทุบหรือโม่ ในกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดการฟุ้งกระจาย
    ของอนุภาคของของแข็ง อาจใช้น้ำหรือน้ำมันช่วยให้เกิดความชื้นเพื่อป้องกัน
    ไม่ให้ฟุ้งกระจาย เช่น การบดหรือโม่แป้งในลักษณะเปียกจะช่วยป้องกันการฟุ้ง
    กระจายของเศษข้าวและแป้ง
      4.1.5 การนำสารปนเปื้อนที่เกิดจากกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อ
    ลดการปล่อยสารปนเปื้อนออกปะปนในอากาศ เช่น นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มา
    ทำน้ำแข็ง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาผลิตกรดกำมะถัน หรือนำไอร้อนจากปล่อง
    ระบายควันมาใช้เป็นพลังงานในการให้ความร้อน เป็นต้น
      4.2 การควบคุมสารปนเปื้อนจากแหล่งกำเนิดก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ เป็นการ
    ควบคุมไม่ให้มีสารปนเปื้อนในบรรยากาศมากเกินไปจนก่อให้เกิดอันตรายซึ่งกระทำ
    ได้หลายวิธี เช่น
      4.2.1 การลดความเร็วของอากาศเสีย เพื่อให้อนุภาคของของแข็งหรืออนุภาคของ
    ของเหลวในอากาศเสียที่มีน้ำหนักกว่าอากาศตกตะกอน โดยปล่อยให้ส่วนที่เป็นอากาศ
    ไหลออกไปสู่บรรยากาศ เช่น การตกตะกอนอากาศเสียในห้องตกตะกอน
      4.2.2 การเปลี่ยนทิศทางของอากาศเสีย เป็นการเปลี่ยนทิศทางการไหลของอากาศ
    เสียอย่างรวดเร็วเพื่อให้อนุภาคซึ่งมีน้ำหนักมากกว่าอากาศไหลตามอากาศซึ่งมีน้ำหนัก
    เบากว่าไม่ทันทำให้บางส่วนของอนุภาคกระทบกระเทือนกับผนังอุปกรณ์ที่ใช้เปลี่ยน
    ทิศทางและตะกอนโดยต้องใช้เครื่องมือต่าง ๆ ช่วยในการดำเนินการ เช่น
    เครื่องไซโคลน (Cyclone Precipitator)
      4.2.3 การดูดซับหรือการดูดซึม เพื่อกั้นกันหรือดูดซึมสารปนเปื้อนในอากาศเสีย
    โดยใช้เครื่องมือหรือตัวกลางที่เป็นของเหลวประเภทน้ำหรือน้ำมันมาใช้
      4.2.4 การทำให้เจือจาง โดยใช้พัดลมดูดอากาศหรือพัดลมดูดอากาศร่วมกับปล่อง
    ระบายควัน เพื่อให้อากาศสกปรกเกิดการเจือจางจากการใช้อากาศสะอาดใน
    บรรยากาศมาช่วย
      4.3 ใช้อุปกรณ์เพื่อกำจัดสารปนเปื้อนในอากาศ ซึ่งมีมากมายหลายชนิดขึ้น
    อยู่กับการนำไปใช้ในการกำจัดหรือแยกสารปนเปื้อน เช่น เครื่องแยกตะกอนแบบ
    แรงหนีศูนย์กลางเพื่อใช้แยกอนุภาค เครื่องสครับเบอร์แบบบรรจุตัวกลาง
    5.
    การให้การศึกษา ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมต่าง ๆ ของ
    มนุษย์กับปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องอันจะช่วยให้
    การควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะทำให้เกิด
    ทัศนคติที่ดีมีเหตุผลและเป็นส่วนเชื่อมโยงให้เกิดเป็นนโยบายและมาตรการต่าง ๆ
    ให้ยอมรับถือปฏิบัติในสังคม
    6.
    การใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อปรับปรุงเชื้อเพลิงและกระบวนการผลิตให้เหมาะสมแต่
    ช่วยลดมลพิษในอากาศลง เช่น การใช้สารเอ็นทีบี แทนสารตะกั่วในการผลิตกับน้ำมัน
    เบนซินเป็นต้น
    7.
    ควบคุมการเผากำจัดขยะ  ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  โดย
    ออกแบบเตาเผาที่ทำให้ปริมาณอากาศและเชื้อเพลิงอยู่ในอัตราที่เหมาะสม มีการ
    ถ่ายเทอากาศได้เพียงพอและเลือกใช้เชื้อเพลิงที่สามารถลดอนุภาคสารมลพิษได้
           
           
           
           

     

    7.1
      ความหมายของมลพิษสิ่งแวดล้อม
    7.2
      แหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ
    7.3
      มลพิษทางอากาศ