การวัดผลและการประเมินผลทางการศึกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อแสดงความก้าวหน้าตามเป้าหมายของหลักสูตรและเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา  จุดมุ่งหมายของการวัดผลและประเมินผลแยกเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
            1. เพื่อการจัดตำแหน่ง (Placement) โดยใช้ผลการสอบบอกตำแหน่งของผู้เรียนว่ามีความรู้ความสามารถในระดับใดของกลุ่ม  หรือเปรียบเทียบกับเกณฑ์แล้วจัดว่าอยู่ในระดับใด  การใช้แบบสอบวัดเพื่อจัดตำแหน่งนี้  ใช้ในวัตถุประสงค์  2 ประการ คือ เพื่อคัดเลือกเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน  และใช้แยกประเภท แยกกลุ่มเป็น   เช่น กลุ่มเก่ง- กลุ่มอ่อน ผ่านเกณฑ์-ไม่ผ่านเกณฑ์
            2. เพื่อเปรียบเทียบ (Assessment) หรือเพื่อประเมินพัฒนาการ เป็นการประเมินผลก่อนเริ่มต้นการเรียนการสอน (Pre-test) ของแต่ละบทเรียนหรือแต่ละหน่วยเพื่อพิจารณาดูว่าผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการเรียนเพียงใด   ซึ่งจะช่วยให้รู้ว่าในระหว่างการเรียนรู้ ผู้เรียนควรมีความรู้เพิ่มอย่างไร และเป็นการพิจารณาดูว่าวิธีการสอนอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับสภาพผู้เรียน  หากการประเมินผลก่อนเรียนพบว่า ผู้เรียนมีพื้นฐานไม่พอเพียงที่จะเรียนในเรื่องที่จะสอน  ก็จำเป็นต้องได้รับการสอนซ่อมเสริมให้มีพื้นฐานที่พอเพียงเสียก่อนจึงจะเริ่มต้นสอนเนื้อหาในหน่วยการเรียนต่อไปได้
            3. เพื่อการวินิจฉัย (Diagnosis) เป็นการวัดผลเพื่อค้นหาจุดเด่น จุดด้อยของผู้เรียนว่ามีปัญหาในเรื่องอะไร  เพื่อจะนำไปสู่การตัดสินใจแก้ไขปรับปรุงให้ตรงเป้า แบบทดสอบที่ใช้เพื่อการนี้คือแบบทดสอบวินิจฉัยการเรียน (Diagnostic  Test)
            4. เพื่อพยากรณ์ (Prediction) การวัดผลสามารถทำหน้าที่ทำนายหรือคาดคะเนความสำเร็จในภายภาคหน้าของผู้เรียนได้  โดยต้องทำการวิจัยให้ทราบก่อนว่าความสำเร็จที่ต้องการคาดคะเนนั้นประกอบด้วยความสามารถประเภทใด  หรือความถนัดใดบ้าง  โดยใช้แบบวัดความถนัด  แล้วนำผลที่ได้มาสร้างสมการพยากรณ์หรือเปลี่ยนคะแนนสอบในแต่ละวิชามาสร้างเป็นกราฟ  จะมองเห็นว่าผู้เรียนมีความสามารถในวิชาใดสูง  วิชาที่ได้สูงนั้นจะสามารถพยากรณ์ความสามารถในอนาคต
            5. เพื่อการประเมินผล (Evaluation) เป็นการวัดผลเพื่อนำผลของการวัดมาสรุปว่าผู้เรียนอยู่ในระดับใดของเกณฑ์ที่กำหนดไว้  ในการประเมินผลจากการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน  เมื่อได้เรียนจบแล้วว่ามีคุณภาพระดับใด  บรรลุจุดมุ่งหมายที่ต้องการระดับใด  การประเมินผลในเรื่องนี้ต้องได้จากผลการวัดให้ครอบคลุมกับจุดมุ่งหมายที่ต้องการประเมินทั้งหมด  ซึ่งมีความหมายรวมไปถึงการประเมินผลของหลักสูตรการสอน  เป็นการประเมินว่าการจัดการเรียนการสอนได้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรมากน้อยเพียงใด  การบริหารมีคุณภาพระดับใด
           จุดมุ่งหมายของการวัดผลทั้ง 5 ประการ  มีความต่อเนื่องกัน  โดยก่อนเริ่มเข้ามาเรียน         ก็จะต้องวัดเพื่อคัดเลือกเข้ามาเรียน (วัดเพื่อจัดตำแหน่ง) และในระหว่างภาคเรียนก็จะต้องทราบว่าใครเก่งอ่อนตรงไหน (วัดเพื่อวินิจฉัย) เพื่อจัดการสอนให้เหมาะสม  เมื่อสิ้นภาคเรียนก็มีการทดสอบเพื่อดูว่าใครเรียนดีขึ้นเพียงใด (วัดเพื่อเปรียบเทียบ)  และในอนาคตนักเรียนแต่ละคนควรจะเรียนอะไรต่อไป (วัดเพื่อพยากรณ์) จนในที่สุดก็ต้องทราบว่าผลสุดท้ายนักเรียนเป็นอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนอื่น (วัดเพื่อประเมินค่า)  เป็นต้น  ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาว่าจะวัดวิธีใดจึงจะถูกต้องและสมบูรณ์ที่สุด  เพื่อนำผลการวัดไปใช้ตามจุดมุ่งหมายทั้ง 5  ประการได้อย่างมีประสิทธิภาพ