การวัดและประเมินผลการศึกษา เป็นส่วนที่สำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน    ดังนั้นในการวัดผลและประเมินผล  ผู้สอนควรยึดหลักปรัชญาของการวัดผลเป็นแนวทางในการปฏิบัติ  เพื่อให้ผลที่ได้เป็นข้อมูลที่ชี้นำในการดำเนินการสอนต่อ ๆ ไป ได้เป็นอย่างดีและถูกต้องมากที่สุด  มิใช่การนำผลที่ได้ไปตัดสินการสอบได้หรือสอบตกของนักเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งปรัชญาการวัดและประเมินผลมีดังนี้คือ
             1.   ให้ถือว่าการสอบเป็นส่วนหนึ่งของการสอน  ถึงแม้ว่าการสอนและการสอบมีจุดมุ่งหมายต่างกันและทำในเวลาที่ต่างกัน แต่ก็ถือว่าทั้งการสอนและการสอบมีความต่อเนื่องกันและสัมพันธ์กัน  ครูที่ดีจะไม่แยกการสอนและการสอบออกจากกัน  แต่พยายามทำให้ทั้งสองอย่างต่อเนื่องกันตลอดเวลา
             2.  การสอบควรมุ่งวัดศักยภาพมากกว่าการวัดความจำ  การสอบที่ผ่านมามักมุ่งวัดว่าผู้เรียนจำสิ่งที่ครูสอนไปแล้วได้มากน้อยเท่าไร  แต่ปัจจุบันมุ่งที่จะวัดความสามารถด้านสมองของผู้เรียนว่า เขาสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปดัดแปลงเพื่อใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีอย่างไร
             3. สอบเพื่อวินิจฉัยการเรียนการสอน  ปัจจุบันมุ่งให้ผู้เรียนเรียนเพื่อรู้มากกว่าแข่งขันกัน ระเบียบการวัดผลปัจจุบันได้กำหนดให้มีการสอนซ่อมเสริมได้ ครูจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่าผู้เรียน             บกพร่องในเรื่องใดจึงสามารถสอนซ่อมเสริมได้
             4.   สอบเพื่อประเมินค่า  การสอบมุ่งที่จะนำผลไปประเมินผลทางการศึกษาเป็นส่วนรวมว่ามีความเหมาะสมหรือไม่  เพียงใด  รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมของหลักสูตร  การเรียนการสอน  และองค์ประกอบอื่น ๆ ของการศึกษา  มีอะไรควรปรับปรุงแก้ไข
              5.  ทดสอบเพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพ เป็นปรัชญาที่สำคัญยิ่งมุ่งให้ครูทำหน้าที่ตรวจค้นนักเรียนว่าใครมีสมรรถภาพเด่นด้อยในด้านใด  โดยถือว่านักเรียนแต่ละคนก็มีคุณลักษณะพิเศษของตน  มีลักษณะต่างกันแฝงอยู่ อาจแสดงออกมาให้เห็นเด่นชัดหรือไม่ชัดก็ได้  ครูจึงต้องทำหน้าที่ค้นหาให้พบ  เพื่อหาทางส่งเสริมสนับสนุนให้ไปในทางนั้นให้มากที่สุด