การวัดผลและประเมินผลการศึกษาเป็นกระบวนการที่มีระเบียบแบบแผนในการดำเนินการ  ดังนั้น  ถ้าต้องการนำผลการวัดการศึกษาไปใช้ให้เกิดประโยชน์  เพื่อให้ผลการวัดมีความถูกต้อง      ควรจะมีการปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. การวางแผน  การวางแผนเป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนว่า  จะทำอะไร  การวางแผนการวัดผลและประเมินผลการศึกษาควรประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
      1.1 กำหนดจุดมุ่งหมาย  เป็นการกำหนดขอบข่ายกว้าง ๆ ว่าจะวัดบุคคลใด  วัดเพื่อ  จุดประสงค์ใด  และจะวัดอะไรจากเขา  เช่น  จะสอบวัดนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูงเพื่อทราบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาหลักการศึกษา
     1.2 กำหนดสิ่งที่จะวัด  เป็นการกำหนดเนื้อหา  และพฤติกรรมหรือคุณลักษณะที่จะวัด  แต่ละเนื้อหาและพฤติกรรมนั้นๆ จะวัดมากน้อยเพียงใด  ซึ่งการวิเคราะห์หลักสูตรสามารถช่วยในการกำหนดเนื้อหาและพฤติกรรมได้
     1.3 กำหนดเครื่องมือ เป็นการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยของเครื่องมือที่จะใช้ เช่น
            1.  รูปแบบคำถามที่จะใช้  จะใช้แบบอัตนัย  หรือปรนัย  จึงจะเหมาะกับเนื้อหาหรือพฤติกรรมนั้น ๆ
            2.  จำนวนข้อคำถาม  และเวลาที่ใช้ในการวัด
            3.  วิธีการที่จะตรวจคุณภาพเครื่องมือ
            4.  ผู้รับผิดชอบในการสร้างเครื่องมือ
            5.  กำหนดเวลาที่ใช้ในการสร้างเครื่องมือ
            6.  วิธีการตรวจให้คะแนน  การบันทึกผล
2. ขั้นดำเนินการสร้างเครื่องมือ  การสร้างเครื่องมือวัดผลเป็นขั้นของการลงมือปฏิบัติจริงหลังจากมีการวางแผนเรียบร้อยแล้ว  การดำเนินการจะประกอบด้วย
         2.1 เขียนข้อคำถาม  เป็นการเขียนคำถามแต่ละข้อโดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางด้านพฤติกรรมและเนื้อหาในเรื่องนั้นๆ โดยเขียนให้เกินจำนวนข้อคำถามที่ต้องการ
         2.2 พิจารณาคัดเลือกข้อคำถาม  เป็นการนำข้อคำถามทั้งหลายมาวิจารณ์ และตรวจสอบเป็นรายข้อว่าแต่ละข้อวัดเนื้อหาและพฤติกรรมที่ต้องการได้จริงหรือไม่  ถ้าเป็นไปได้ควรอาศัยความเห็นจากหลาย ๆ คนที่มีความรู้ในวิชานั้น ๆ ในขั้นนี้อาจต้องมีการแก้ไข  เลือก  หรืออาจเขียนเพิ่มจนได้ครบจำนวนที่ต้องการ
        2.3 พิจารณาคำถามทั้งหมดที่เลือกใช้  เพื่อตรวจสอบจำนวนข้อว่าครบหรือไม่  วัดพฤติกรรมและเนื้อหาต่าง ๆ ได้ถูกต้องสอดคล้องกับแผนที่กำหนดไว้หรือไม่  พร้อมทั้งเขียนคำอธิบายการใช้เครื่องมือและวิธีตอบอย่างชัดเจน
         2.4 พิมพ์และอัดสำเนาเครื่องมือที่จะใช้  โดยคำนึงถึงความถูกต้อง  ซึ่งจะต้องนำมาตรวจทานอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนทำการอัดสำเนาเป็นเล่ม
         2.5 ทำเฉลย  เพื่อเป็นการตรวจสอบความบกพร่องต่าง ๆ ก่อนที่จะนำเครื่องมือไปใช้จริง
         2.6 จัดเตรียมเครื่องมือที่จะใช้  โดยแยกตามแต่ละห้อง  แต่ละอาคาร
3.  ขั้นใช้เครื่องมือ
      การใช้เครื่องมือเป็นการนำเครื่องมือไปสอบโดยจะต้องดำเนินการสอบให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้เข้าสอบเหมือนกันทุกคน  พยายามหลีกเลี่ยงการรบกวนเวลาในการคิดของผู้สอบ  ควรชี้แจงวิธีตอบ  พร้อมทั้งให้กำลังใจแก่ผู้สอบก่อนลงมือสอบ  และให้เวลาสอบตามเวลาที่กำหนดไว้
4.  ขั้นตรวจและใช้ผลการวัดการตรวจและใช้ผลการวัดเป็นการรวบรวมคำตอบของผู้สอบมาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้   แล้วนำผลจากการวัดทุกชนิดในระหว่างภาคเรียนเพื่อนำไปใช้ในการประเมินผลและใช้ผลตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการต่อไป
5.  ขั้นตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือเป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการวัดมาตรวจสอบหรือหาคุณภาพของเครื่องมือทั้งฉบับและเป็นรายข้อ  เช่น  ความเที่ยงตรง  ความเชื่อมั่น  ค่าอำนาจจำแนก  และระดับความยากง่าย  เพื่อพิจารณาว่าเครื่องมือที่ใช้นั้นมีคุณภาพดีเพียงใด  ควรแก้ไขปรับปรุงในเรื่องใดรวมทั้งจะช่วยให้ทราบคุณภาพคำถามเป็นรายข้อเพื่อแก้ไขข้อที่บกพร่องและเก็บรวบรวมข้อที่ดีไว้ใช้ต่อไป
            ดังนั้นกระบวนการในการวัดผลและประเมินผลทางการศึกษาจะมีการดำเนินงานเช่นเดียวกับการปฏิบัติงานอื่น ๆ คือจะต้องมีการจัดเตรียมและวางแผนงานที่ดีซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงาน  สามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย  ในการวัดผลและประเมินผลการเรียนการสอน  ควรมีขั้นตอนที่สำคัญ ดังนี้
            1)  วิเคราะห์หลักสูตร  เพื่อเป็นการวางโครงการประเมินผลตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร 
            2)   กำหนดจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมให้ชัดเจน
            3)  กำหนดสถานการณ์  ประสบการณ์  กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้แสดงออก
            4)  ใช้เครื่องมือในการวัดผล  เพื่อทำการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ และจดบันทึกไว้
            5)  ประเมินผล  โดยผสมผสานข้อมูลต่าง ๆ ของทุกรายการที่วัดได้แล้ววินิจฉัยชี้ขาด