การวัดผลการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นการวัดทางด้านสังคมศาสตร์  มีลักษณะเป็นนามธรรม  อีกทั้งเครื่องมือที่ใช้จะต้องสร้างขึ้นอย่างมีคุณภาพ  ถึงแม้ว่าขณะนี้การวัดผลจะพยายามใช้วิธีการ               ทางวิทยาศาสตร์เป็นหลักดำเนินการก็ตาม  แต่ในทางปฏิบัติจริงการวัดคุณลักษณะบางอย่างก็มีขีดจำกัดไม่อาจกระทำอย่างได้ผลเต็มที่  มักมีความคลาดเคลื่อนในการวัดเกิดขึ้นทุกครั้งไป  ทั้งนี้เพราะสาเหตุสำคัญ 3 ประการ  คือ
          1. ไม่สามารถกำหนดลักษณะหรือความหมายของสิ่งที่จะวัดได้อย่างชัดเจน 
          2.  พฤติกรรมการเรียนรู้บางชนิดที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนนั้นจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ต้องอาศัยการผสมผสานพฤติกรรมย่อย ๆ หลายๆ ชนิด 
          3. พฤติกรรมการเรียนรู้บางอย่างของผู้เรียนบางครั้งไม่อาจเกิดขึ้นในสภาวะหรือในระยะของการเรียน 
          ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้  มีแนวทางในการแก้ไขได้หลายด้านหลายแบบ  แนวทางหนึ่งที่สำคัญก็คือความพยายามในการหาวิธีการสอบวัดที่เหมาะสมกับคุณลักษณะที่จะวัดและสภาพทั่ว ๆ ไป  โดยปกติการสอบวัดหรือลักษณะของการวัดผลการศึกษานั้นมีอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ
          1.  การวัดพฤติกรรมตรง (Direct  Measured)
การวัดพฤติกรรมตรงเป็นการวัดที่มุ่งหาคุณสมบัติ  หรือจำนวน  ปริมาณ  พฤติกรรมของ  ผู้เรียนจากการแสดงออกจริง ๆ ให้สามารถสังเกตหรือเห็นได้  การวัดลักษณะนี้ดีเลิศและถูกต้องที่สุด  ซึ่งมี 2 แบบ  คือ
                1) การวัดจากการกระทำจริง  เป็นการวัดที่ใช้สถานการณ์จริงหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำ
วันเป็นเครื่องเร้า  เพื่อให้ผู้สอบแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาด้วยการปฏิบัติหรือแก้ปัญหาจริง ๆ เช่น
                     1)  ต้องการทราบว่าเด็กซ่อมไฟฟ้าในบ้านได้หรือไม่  ก็ให้ลงมือซ่อมไฟฟ้าจริง
                     2)  ต้องการวัดความสามารถเกี่ยวการปฐมพยาบาลคนเป็นลมแดด ก็ใช้การสมมุติว่าเด็กคนหนึ่งเป็นลมแดดแล้วให้แสดงการปฐมพยาบาล
                2) การวัดจากการสร้างหุ่นจำลอง  เป็นการสร้างแบบหรือสร้างสถานการณ์ขึ้นแทนสถานการณ์จริง ๆ เป็นการสมมุติเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันขึ้นแล้วให้ผู้เรียนปฏิบัติกับหุ่นจำลองที่สร้างขึ้น     
                การวัดพฤติกรรมตรงไม่ว่าจะวัดจากการกระทำจริงหรือจากการสร้างหุ่นจำลองที่สมมุติขึ้น     ก็ตามเป็นวิธีที่ต้องใช้เวลาและแรงงานค่อนข้างมากจนไม่สามารถวัดได้ทั่วถึง  เพราะส่วนใหญ่ต้องวัดเป็นรายบุคคล  ในบางกรณีพฤติกรรมบางชนิดที่ต้องการวัดนั้นไม่มีโอกาสเกิดจริงได้  หรือแม้แต่      จะจำลองขึ้นก็ลำบากยุ่งยากมากเช่นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์  แผ่นดินไหว  ภูเขาไฟระเบิด
            2.  การวัดพฤติกรรมทางอ้อม  (Indirect  Measured)การวัดพฤติกรรมทางอ้อมเป็นการวัดพฤติกรรมหรือความสามารถที่ต้องใช้ในสถานการณ์จริงโดยผ่านตัวกลางอื่นซึ่งสัมพันธ์กับของจริง  คุณภาพการวัดด้วยวิธีนี้จึงอยู่ที่ความเชื่อถือได้ของ   ตัวกลางที่กำหนดขึ้น  ถ้าเป็นเรื่องราวที่ต้องใช้ความสามารถเหมือนของจริงผลที่ได้ก็มีโอกาสถูกต้อง  ตัวกลางในที่นี้ก็คือ  เรื่องราว  สถานการณ์  หรือปัญหาที่กำหนดขึ้นมาเพื่อให้เด็กแสดงพฤติกรรม  ออกมาโดยไม่ต้องกระทำจริง  แต่ใช้วิธีการตอบด้วยการเขียนแทน  ซึ่งก็คือการใช้ข้อสอบแบบข้อเขียนนั่นเอง  วิธีนี้กระทำได้ 3 แบบ  คือ
                   1) การวัดพฤติกรรม  สัมพันธ์เป็นการวัดพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการที่จะใช้ในการปฏิบัติจริง  เช่น  การวัดความสามารถในการเขียนเรียงความแทนที่จะให้เขียนเรียงความจริงๆ ก็ใช้วิธีวัดความสามารถในด้านคำศัพท์  การจัดเรียงลำดับข้อความ  การใช้ภาษาแทน  โดยยอมรับว่าสิ่งที่วัดเหล่านั้นเมื่อรวมกันแล้วจะแทนของจริง  หรือมีค่าเท่าเทียมหรือสัมพันธ์กับการปฏิบัติจริง         ความถูกต้องของการวัดแบบนี้ย่อมขึ้นกับการกำหนดพฤติกรรมที่จะวัดว่ามีความสัมพันธ์กับของจริงจนทดแทนกันได้หรือไม่
                   2) การวัดสถานการณ์  เป็นการลดคุณภาพการวัดลงมาอีกขั้นหนึ่งด้วยการกำหนดหรือสร้างสถานการณ์  หรือเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับของจริงนำมาให้เด็กพิจารณาตัดสินใจเพื่อตอบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์นั้น  สิ่งที่นำมาเป็นสถานการณ์อาจเป็นเหตุการณ์สมมุติ  เป็นเรื่องราว  ข้อความ  แผนที่  แผนผัง  บทประพันธ์  หรือตารางตัวเลขใด ๆ ก็ได้  แล้วตั้งคำถามเพื่อถามรายละเอียดหรือถามความคิดในแง่มุมต่าง ๆ ของสถานการณ์ที่กำหนดขึ้นนั้น  ซึ่งถ้าใครตอบในลักษณะใดก็คาดคะเนว่าผู้นั้นจะไปเผชิญของจริงได้ในลักษณะนี้เช่นกัน 
                    3) การวัดความรู้  การวัดแบบนี้เป็นการวัดความสามารถในการจดจำรายละเอียด    ต่าง ๆ ของเนื้อหาวิชาหรือเป็นการวัดพฤติกรรมด้านความจำซึ่งเป็นการวัดความลักษณะสามารถขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพด้อยกว่าการวัดแบบอื่น ๆ ที่กล่าวมา  การวัดแบบนี้ยังแพร่หลายมาก  เพราะวัดได้ง่ายและสะดวกในเชิงปฏิบัติ  แต่ผลที่ได้จากการวัดจะเป็นเพียงพฤติกรรมด้านความทรงจำเท่านั้น  ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสมนัก  เพราะ เนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้นในหลักสูตรไม่ได้ปราถนาจะปลูกฝังเฉพาะพฤติกรรมความสามารถด้านความจำของผู้เรียนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
                   การวัดผลที่กล่าวมาแต่ละแบบไม่มีแบบใดที่ดีเลิศ  ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียทั้งสิ้น  การจะเลือกใช้การวัดแบบใดย่อมขึ้นกับโอกาสและความเหมาะสมโดยต้องพยายามขจัดข้อเสียต่าง ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด  แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นการวัดแบบไหนก็ย่อมมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนขึ้นเสมอ  ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามขจัดความคลาดเคลื่อนเหล่านั้นให้น้อยที่สุด