การที่จะวัดและประเมินผลทางการศึกษาจะต้องรู้จุดประสงค์ทั้งหมด ซึ่งถ้านำจุดประสงค์ทางการศึกษามาพิจารณาว่า พฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนมีอะไรบ้างโดยพิจารณาตามแนวความคิดของ บลูม จะแบ่งกลุ่มพฤติกรรมได้เป็น 3 ด้าน คือ
               1. ด้านพุทธิพิสัย  เป็นจุดประสงค์ทางการศึกษาที่เกี่ยวกับพฤติกรรม ที่เป็นความรู้และความสามารถในการคิด การใช้สมอง โดยแบ่งออกเป็น 6 ขั้น เรียงตามลำดับตั้งแต่พฤติกรรมขั้นต่ำสุดไปหาพฤติกรรมขั้นสูงสุด คือ
                   1.1   ความรู้ความจำ ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                           - บอกความหมายของภาษีได้             
                           - บอกคุณลักษณะของเชื้อเพลิงที่ดีได้
                           - อธิบายการออกกำลังกายได้
                   1.2   ความเข้าใจ   ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                           -  จับใจความจากเรื่องที่ครูเล่าให้ฟังได้
                          -  บอกแนวโน้มของสินค้าในปีต่อไปจากกราฟได้
                   1.3  การนำไปใช้   ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                           - แสดงวิธีทำและหาคำตอบจากโจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสมการได้
                           - แสดงการปฐมพยาบาลคนเป็นลมแดดได้
                   1.4  การวิเคราะห์ ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                          -   วิเคราะห์เหตุการณ์ที่กำหนดให้ได้
                   1.5  การสังเคราะห์ ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                          - วางแผนในการวัดผลการเรียนวิชาที่ ทำการสอนได้
                  1.6 การประเมินค่า ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ เช่น
                        -  อภิปรายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวในหนังสือพิมพ์ได้
              2. ด้านจิตพิสัย เป็นจุดประสงค์ทางการศึกษาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ เช่น ความสนใจ เจตคติ การปรับตัว เป็นต้น โดยแบ่งออกเป็น 5 ขั้น เรียงจากพฤติกรรมขั้นต่ำสุดไปหาพฤติกรรมขั้นสูงสุด คือ
                   2.1  การรับรู้  เป็นความสามารถในการรู้สึกต่อสิ่งที่ปรากฏให้เห็นตามธรรมชาติหรือต่อสิ่ง
เร้า  ให้ความสนใจเก็บเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
                  2.2  การตอบสนอง เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกว่าสนใจต่อปรากฏการณ์หรือสิ่งเร้าอย่าง จริงจัง  และมีปฏิกริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น ๆ
                 2.3  การสร้างคุณค่า  เป็นการแสดงที่เกิดจากความสำนึกในคุณค่าของสิ่งต่าง ๆ  มีการยอมรับและตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์นั้น ๆ ในลักษณะของความเชื่อ  ทัศนคติ  ค่านิยม  เป็นต้น
                2.4  การจัดระบบคุณค่า  เป็นการรวบรวมนำคุณค่าต่าง ๆ ที่เชื่อถือมาพิจารณาจัดพวก
                2.5  การสร้างลักษณะนิสัย  พฤติกรรมในระดับนี้เกิดจากการที่บุคคลมีความเชื่อ  ความคิด  ความรู้สึก  ค่านิยม  ทัศนคติแตกต่างกัน  ก็จะมีลักษณะนิสัย  ความประพฤติแตกต่างกันออกไป
               จุดประสงค์การเรียนรู้ในด้านนี้ เป็นจุดประสงค์ในลักษณะรวม เช่น มีความรับผิดชอบใน    การทำงาน มีนิสัยที่ดีในการเรียน มีน้ำใจเป็นนักกีฬา มีความสามัคคี มีระเบียบวินัย มีความขยันหมั่นเพียร  มีความเพลิดเพลิน เป็นต้น
             3.  ด้านทักษะพิสัย เป็นจุดประสงค์ทางการศึกษาที่เกี่ยวกับพฤติกรรมความสามารถในการใช้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายให้สัมพันธ์กัน พฤติกรรมในด้านนี้แบ่งออกเป็น 7 ระดับ
                  3.1 การรับรู้  เป็นขั้นแรกของการกระทำทางกล้ามเนื้อ  เป็นกระบวนการของการรับรู้วัตถุ  สิ่งของ  คุณภาพ  หรือความสัมพันธ์  ผ่านประสาทสัมผัสต่าง ๆ
                  3.2 การตระเตรียม เป็นการเตรียมพร้อมและปรับตัวที่จะกระทำ  หรือเตรียมพบประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งมีอยู่ 3 ด้าน  คือ  ทางสมอง  ทางร่างกาย  และทางอารมณ์
                  3.3  การตอบสนองตามการชี้แนะ เป็นการพัฒนาทักษะโดยตรง  ทั้งนี้เพราะเน้นหนักที่ความสามารถในการแสดงออกทางทักษะที่ซับซ้อนขึ้น  การตอบสนองในพฤติกรรมนี้เป็นพฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็นภายใต้การชี้แนะของบุคคลอื่น  เช่น  ครูผู้สอน  หรือเป็นการตัดสินใจเองตามหลักเกณฑ์หรือแบบแผนอย่างใดอย่างหนึ่ง การปฏิบัติตามคู่มือ
                 3.4  การสร้างกลไก    พฤติกรรมระดับนี้คือการที่บุคคลสามารถสัมฤทธิ์ผลในการปฏิบัติอย่างเชื่อมั่นและมีประสิทธิภาพสูง  จนเกิดเป็นพฤติกรรมที่เป็นกิจนิสัย   การสนองตอบจึงมักจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย  และมีรูปแบบในการปฏิบัติที่เด่นชัดขึ้นในทุก ๆ สถานการณ์ที่พบนั้น
                 3.5  การตอบสนองสิ่งที่ซับซ้อนขึ้น พฤติกรรมระดับนี้  คือการปฏิบัติสิ่งที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น  โดยแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีทักษะในการกระทำ  สามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่นโดยใช้พลังงานและเวลาน้อย
                 3.6  การดัดแปลงให้เหมาะสม  เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นปัญหาใหม่  โดยบุคคลที่มีการปฏิบัติจนชำนาญแล้วจะสามารถหาวิธีการอื่น ๆ มาลองทำเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
                 3.7  การริเริ่มใหม่  เป็นการนำทักษะทางร่างกายที่มีอยู่ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างสรรสิ่งใหม่ ๆ
               ตัวอย่างจุดประสงค์การเรียนรู้ในด้านนี้ เช่น
                -  ลากเส้นตรงและเส้นโค้ง
                -  ออกเสียงได้ชัดเจน
                -  เคลื่อนไหวและแสดงท่าบริหารร่างกายตามจังหวะเพลงได้ถูกต้อง
                -  มีทักษะในการเคลื่อนไหว (กระโดด วิ่ง ม้วนตัวได้คล่องแคล่ว)
                -  ยกของได้ถูกสุขลักษณะ