การที่ผู้สอนจะสอนหรือทดสอบ จำเป็นที่จะต้องศึกษารายละเอียดของวิชานั้นว่ามี โครงสร้างหรือกรอบให้แก่ผู้เรียนอย่างไร ซึ่งมักจะประกอบด้วยจุดมุ่งหมายกับเนื้อหา โดยเรียกว่า การวิเคราะห์หลักสูตรหรือการกำหนดรายละเอียดของวิชา เพื่อประโยชน์ในการวางแผนการสอนว่าควรจะสอนเนื้อหาอะไร ให้ผู้เรียนบรรลุพฤติกรรมอะไร มากน้อยเท่าไร และสะดวกแก่การเขียนข้อสอบ ให้ได้ตรงกับเนื้อหาและพฤติกรรมที่ได้วางแผนไว้ ผู้สอนควรแสดงตารางกำหนดรายละเอียดที่จะสอนทุกครั้งเพื่อหาความสัมพันธ์ของจุดมุ่งหมายและเนื้อหา ซึ่งในการสร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตรมี 2 วิธี คือ แบบอิงกลุ่ม และแบบอิงเกณฑ์
ความหมายของการวิเคราะห์หลักสูตร
การวิเคราะห์หลักสูตร เป็นการพิจารณารายละเอียดของจุดมุ่งหมายและเนื้อหา แล้วพิจารณาความสัมพันธ์ทั้งจุดมุ่งหมายและเนื้อหาเพื่อนำมาวางแผนในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการสอบ
วัตถุประสงค์ของการสร้างตารางวิเคราะห์หลักสูตร
1. เพื่อใช้ในการวางแผน กำหนดขอบเขตและควบคุมการบริหารการสอนและการสอบ ให้ได้สัดส่วนสัมพันธ์กันอย่างสมดุล และสมบูรณ์ตามความคาดหมาย
2. เพื่อให้การดำเนินการสอนและการสอบให้เป็นไปตามสัดส่วนของระยะเวลาตามความสำคัญของเนื้อเรื่อง และของพฤติกรรมที่พึงประสงค์
3. เพื่อแสดงสัดส่วนของความสำคัญเป็นปริมาณตัวเลขของแต่ละเนื้อหาวิชาและแต่ละพฤติกรรม ที่สัมพันธ์กันตามความมุ่งหมายและตามที่หลักสูตรต้องการ
4. เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาความเที่ยงตรงของข้อสอบทั้งในด้านเนื้อหาวิชา และโครงสร้างที่เป็นอย่
ลักษณะของตารางวิเคราะห์หลักสูตร
ตารางวิเคราะห์หลักสูตรประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ส่วนตามแนวตั้ง เป็นเรื่องของเนื้อวิชา ได้แก่เรื่องราวต่าง ๆ ที่กำหนดว่าจะสอนตามหลักสูตรมากน้อยเพียงใด ในส่วนนี้จะเป็นการกำหนดสิ่งที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ในเรื่องอะไรบ้าง เป็นสัดส่วนเท่าใด
ส่วนที่ 2 ส่วนตามแนวนอน เป็นโครงสร้างพฤติกรรมทางสมอง หรือที่เรียกว่าจุดประสงค์ คือในส่วนนี้จะเป็นการกำหนดสิ่งที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ โดยเกิดความสามารถทางสมองในด้านใดบ้าง มากน้อยเพียงใด เป็นสัดส่วนเท่าใด
ส่วนที่ 3 ส่วนที่เป็นตัวเลข ได้แก่ตัวเลขต่าง ๆ ในแต่ละช่อง ซึ่งแสดงให้ทราบถึงน้ำหนักความสำคัญหรือสัดส่วน ความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อหาวิชาที่สอนกับพฤติกรรมที่มุ่งจะปลูกฝังและเสริมสร้างให้กับผู้เรียน