การจัดอันดับคุณภาพเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่ใช้ประกอบกับเครื่องมือชนิดอื่น  ในการจำแนกแจกแจงความแตกต่างของคุณลักษณะหรือความสามารถของผู้เรียน  เช่น  การตรวจ   แบบทดสอบวิชาวาดเขียน  การฝีมือ  พลศึกษา  หรือการประเมินผลทางด้านบุคลิกภาพ  เพื่อเป็นการแก้ไขให้ยุติธรรมขึ้นโดยใช้วิธีนำเอาผลงานของแต่ละคนมาเปรียบเทียบกันทั้งหมด  แล้วจัดอันดับคุณภาพของงานแต่ละชิ้น  แล้วจึงหาทางเปลี่ยนมาเป็นคะแนน  โดยวิธีการง่าย ๆ ต่อไปนี้
             ขั้นที่ 1  จัดผลงานทั้งหมดออกเป็น 3 กอง  คือ  ดี  ปานกลาง  ด้อย
             ขั้นที่ 2  ในแต่ละกองจากขั้นที่ 1  ให้แบ่งเป็นกองย่อย ๆ อีกกองละ 3 กองย่อย  จะได้กองย่อย 9 กอง
             ขั้นที่ 3  ในบรรดากองย่อยก็ยังแบ่งออกอีกพวกละ 3 กองย่อย ๆ ทั้งหมด 27 กอง  และถ้าเราต้องการแจงอันดับให้ครบกับจำนวนผู้สอบก็แบ่งกองต่อไปตามวิธีดังกล่าวจนเราได้ผลงาน  เรียงอันดับติดต่อกันไปจากดีมากไปยังด้อยมากโดยไม่ซ้ำที่กันเลยแล้วจึงให้คะแนนตามลำดับ
            ข้อดีของการจัดอันดับคุณภาพ
           
การจัดอันดับคุณภาพสามารถให้คะแนนเกี่ยวกับผลงานที่เป็นผลผลิตหรือกระบวนการที่เกี่ยวกับคุณค่าหรือคุณภาพของงาน  มีลักษณะเป็นนามธรรม  ซึ่งยากแก่การวัดออกมาเป็นตัวเลขโดยตรงได้
          ข้อจำกัดของการจัดอันดับคุณภาพ
          1.  การจัดอันดับที่เป็นเพียงแต่งานไม่ใช่พฤติกรรมจริงที่เกิดขึ้นมาจากการทำงานชิ้นนั้น  ครูไม่สามารถที่จะล่วงรู้พฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนได้
          2. คุณลักษณะงานขึ้นอยู่กับลักษณะและธรรมชาติของกลุ่มผู้เรียนในแต่ละชั้นเรียน  ซึ่งลำดับที่ของแต่ละชั้นเรียนจะแตกต่างกัน  คนที่ได้ลำดับที่น้อยที่สุดของห้องหนึ่งอาจจะมีคุณภาพอยู่ในระดับกลางของอีกห้องหนึ่งก็ได้