ข้อสอบแบบถูกผิดมีลักษณะเป็นข้อสอบแบบเลือกตอบที่มี 2 ตัวเลือก ผู้ตอบมีโอกาสเลือกตอบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวคำถามของข้อสอบประเภทนี้จะเขียนในรูปประโยคบอกเล่าธรรมดา ส่วนใหญ่เข้าใจว่าวัดได้เฉพาะความรู้ความจำ แต่ความจริงแล้วสามารถวัดความเข้าใจและการนำไปใช้ได้ด้วย
หลักในการสร้างข้อสอบแบบถูกผิด
ข้อสอบแบบถูก-ผิด มีหลักในการสร้างดังนี้
1. เขียนคำสั่งและข้อความที่เป็นทั้งคำถามคำตอบให้ชัดเจน
2. ไม่ควรใช้ข้อความปฏิเสธซ้อน เพราะอาจทำให้ผู้ตอบเข้าใจผิด
3. ไม่ควรใช้ประโยคที่มีทั้งถูกและผิดรวมอยู่ด้วยกัน
4. คำตอบของข้อสอบควรถูกหรือผิดตามหลักวิชา ไม่ใช่ถูกหรือผิดตามความคิดเห็น
5. ควรใช้ข้อความที่บอกปริมาณหรือจำนวนที่แน่ชัด
6. ควรใช้คำที่มีความหมายชัดเจน
7. สิ่งที่กำหนดว่าถูกหรือผิดควรเป็นส่วนสำคัญของข้อความ และเกี่ยวข้องกับข้อความ ที่ถาม
8. ไม่ควรลอกข้อความจากหนังสือเรียน หรือจากสมุดจดคำบรรยายมาเป็นข้อความที่ถาม
9. พยายามหลีกเลี่ยงข้อความที่เป็นคำสั่ง เพราะคำสั่งนั้นบอกไม่ได้ว่าถูกหรือผิด
10. พยายามให้ข้อสอบแต่ละข้อเป็นอิสระแก่กัน อย่าให้ข้อใดข้อหนึ่งแนะคำตอบข้ออื่น ๆ
11. ข้อความแต่ละข้อให้มีความยาวใกล้เคียงกัน ไม่ควรให้ยาวหรือสั้นกว่ากันมากนัก และถ้าเป็นไปได้ควรเรียงลำดับตามความยาวของข้อความ
12. ควรให้มีจำนวนข้อถูกข้อผิดใกล้เคียงกัน เป็นการช่วยลดการเดาได้วิธีหนึ่ง
13. ข้อถูกและข้อผิดควรอยู่กระจายกันออกไป ไม่ควรให้อยู่รวมกันเป็นกลุ่มหรือเรียงกันอย่างมีระบบ
14. ในกรณีที่ข้อสอบหลายประเภทอยู่ในฉบับเดียวกัน ควรจัดข้อสอบแบบถูกผิดไว้ตอนต้น ๆ ของแบบทดสอบ เพราะเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างง่าย เพื่อเร้าให้เด็กอยากทำข้อต่อ ๆ ไป
ข้อดีของข้อสอบแบบถูกผิด
1. ตรวจให้คะแนนง่าย แน่นอน และรวดเร็ว
2. สร้างได้ง่ายและรวดเร็วกว่าข้อสอบอื่น ๆ
3. ข้อสอบแต่ละข้อใช้เวลาตอบน้อย จึงสามารถออกจำนวนข้อมาก ๆได้
4. วิธีการตอบง่ายต่อการเข้าใจเพราะมีโอกาสเลือกเพียง 2 ตัวเลือก
5. ประหยัดค่าใช้จ่าย ในหน้าหนึ่ง ๆ อาจพิมพ์ข้อความได้ถึง 30 ข้อ
ข้อจำกัดของข้อสอบแบบถูกผิด
ข้อสอบแบบถูกผิดมีข้อจำกัด ดังนี้
1. เปิดโอกาสให้เดาได้มาก เพราะให้เลือกหนึ่งอย่างจากสองอย่างผู้สอบมีโอกาสเดาถูก 50 เปอร์เซ็นต์
2. มีค่าความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ เนื่องจากข้อสอบแบบถูกผิดนั้นผู้ตอบมีโอกาสเดาได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ วิธีแก้ปัญหาการเดาอาจทำได้โดยเพิ่มข้อสอบให้มีจำนวนข้อมาก ๆ ข้อสอบฉบับหนึ่ง ๆ ไม่ควรมีน้อยกว่า 50 ข้อ