ข้อสอบแบบเติมคำเป็นข้อสอบประเภทที่ให้ตอบสั้นๆ มีขอบเขตในการตอบ คำถามอาจอยู่ในรูปคำถามหรือในรูปประโยคบอกเล่าที่เป็นข้อความไม่สมบูรณ์ โดยเว้นช่องว่างสำหรับให้เติมคำหรือข้อความให้ได้ความถูกต้องสมบูรณ์
            หลักในการเขียนข้อสอบแบบเติมคำ
            ข้อสอบแบบเติมคำเป็นข้อสอบที่ง่าย แต่เพื่อให้ได้ข้อสอบที่มีคุณภาพควรปฏิบัติ  ดังนี้
            1.  ตั้งคำถามให้มีคำตอบสั้นและชัดเจน  โดยให้มีคำตอบเป็นคำ  หรือวลี
            2. ไม่ควรลอกข้อความจากหนังสือ  ตำรา  มาตั้งเป็นคำถาม 
            3.  ข้อคำถามโดยทั่วไปควรตั้งเป็นแบบคำถามมากกว่าข้อความที่ไม่สมบูรณ์ เพราะข้อความที่ไม่สมบูรณ์อาจทำให้มี คำตอบถูกได้หลายคำตอบ
            4. ถ้าคำตอบเป็นตัวเลขที่มีหน่วย  ควรระบุหน่วยที่ต้องการให้ตอบ
            5. ช่องว่างที่เว้นให้เติมควรจะเว้นให้ทุกข้อมีขนาดเท่ากัน
            6. ในแต่ละข้อควรมีช่องว่างเว้นไว้ให้เติมคำตอบเพียงช่องเดียว 
            การตรวจให้คะแนนข้อสอบแบบเติมคำ
           
การตอบข้อสอบแบบเติมคำอาจมีการกระจายได้หลายอย่าง เพราะไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวให้ผู้ตอบเลือกตอบเหมือนข้อสอบประเภทอื่น ดังนั้นในการตรวจให้คะแนนข้อสอบแบบเติมคำควรกระทำดังนี้
            1.  ถ้าข้อสอบมีคำตอบได้หลายอย่าง  ครูควรให้คะแนนคำตอบที่ถูกต้องทุกคำตอบ
            2.  แต่ละช่องที่ให้เติมคำตอบควรมีคะแนนเท่ากัน
            3.  ไม่ควรหักคะแนนคำตอบที่ถูกแต่สะกดผิดเนื่องจากเราต้องการวัดความรู้ความสามารถมากกว่าทักษะในการเขียน
คำตอบ
            4.  ข้อที่นักเรียนตอบผิด  ควรเขียนคำตอบที่ถูกให้ก่อนจะคืนข้อสอบให้นักเรียน
            5. เพื่อความสะดวกในการตอบ  อาจให้นักเรียนเขียนคำตอบในกระดาษคำตอบ  เวลาตรวจให้คะแนนก็เอาคำเฉลยมาวางเทียบจะทำให้ตรวจเร็วขึ้น
            ข้อดีของข้อสอบแบบเติมคำ
           
1. สร้างได้ง่ายกว่าข้อสอบแบบเลือกตอบและแบบจับคู่ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการคิดหาตัวเลือก
            2.  มีโอกาสเดาถูกได้ยาก  เนื่องจากข้อสอบประเภทนี้ผู้สอบต้องคิดหาคำตอบเองไม่ใช่เลือกคำตอบที่มีอยู่แล้ว
เหมือนข้อสอบแบบอื่น ๆ
            3. ประหยัดเวลาในการตอบ เพราะให้ตอบสั้น ๆ
            4.  ข้อสอบประเภทนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวัดผลวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์  เพราะสามารถวัดความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง  คำศัพท์  กฎเกณฑ์  ความสามารถที่จะหาคำตอบโดยการคำนวณ  ทักษะในการใช้สัญลักษณ์  สมดุล สมการเคมี  ความสามารถที่จะตีความหมายของข้อมูล วัดกระบวนการทางปัญญาขั้นสูง  และความสามารถที่จะแปลความหมายจาก  รูปภาพหรือ แผนภูมิที่กำหนดให้
            ข้อจำกัดของข้อสอบแบบเติมคำ
           
1.  ไม่เหมาะที่จะใช้วัดผลการเรียนรู้ที่ซับซ้อนมาก ๆ
            2.  มีความยุ่งยากในการให้คะแนน เนื่องจากอาจมีหลายคำตอบ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการใช้ภาษา  การสะกดคำ  และ
ลายมือไม่ชัดเจนของผู้ตอบ