ข้อสอบแบบจับคู่เป็นข้อสอบที่กำหนดคำหรือข้อความเป็น 2 คอลัมน์ แล้วกำหนดให้ผู้ตอบเลือกคำหรือข้อความจาก
คอลัมน์หนึ่งไปใส่ในคำหรือข้อความอีกคอลัมน์หนึ่งที่มีความสัมพันธ์หรือสอดคล้องกัน  ข้อสอบประเภทนี้คล้ายกับข้อสอบแบบเลือกตอบ  แต่ตัวเลือกไม่แน่นอนตายตัวเพราะตัวเลือกจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อเลือกตอบไปแล้ว
           หลักในการสร้างข้อสอบแบบจับคู่
           ข้อสอบแบบจับคู่มีหลักในการสร้างดังนี้
           1.  ให้คำหรือข้อความในคอลัมน์หนึ่งจับคู่ได้กับคำหรือข้อความในอีกคอลัมน์หนึ่งเพียงข้อเดียว 
           2.  ตัวเลือกที่อยู่ทางขวามือควรมีจำนวนข้อมากกว่าตัวคำถามที่อยู่ทางซ้ายมืออย่างน้อย 3-4 ข้อ 
           3.  ระบุให้ชัดเจนว่าจะให้จับคู่โดยยึดหลักอะไร 
           4. พยายามให้ตัวเลือกหรือคำตอบที่อยู่ทางขวามือเป็นข้อความสั้น ๆ เรียงตามลำดับมากน้อย  เพื่อสะดวกในการค้นหาคำตอบ
           5.  ควรเรียงลำดับคำตามลำดับตัวอักษร  และถ้าเป็นตัวเลขหรือ พ.ศ.  ก็ควรเรียงตามลำดับมากน้อยเพื่อสะดวกในการค้นหาคำตอบ  และข้อความที่จับคู่กันควรอยู่กระจายออกไป
           6.  ข้อความจับคู่ชุดหนึ่งไม่ควรมีมากข้อเกินไป  ชุดหนึ่ง ๆ ควรมีคำถามไม่เกิน 10 ข้อ
           7.  คำที่เป็นคู่กันควรจัดให้กระจายกัน  ไม่ควรให้อยู่ตรงกันหรือเรียงกันอย่างเป็นระบบ
           8.  ข้อสอบแต่ละชุดควรจัดให้อยู่ในกระดาษหน้าเดียวกัน 
           9.  วิธีการตอบไม่ควรกำหนดให้ยุ่งยาก  อาจตอบง่าย ๆ โดยเอาตัวเลข  หรืออักษรกำกับข้อความมาใส่ไว้หน้าหรือหลังข้อความนั้น ๆ
        10.   คำหรือข้อความที่จะนำมาจับคู่กันควรเป็นเรื่องราวหรือเนื้อหาเดียวกัน
          ข้อดีของข้อสอบแบบจับคู่
          ข้อสอบแบบจับคู่มีข้อดี  ดังนี้
          1.  สร้างได้ง่ายและรวดเร็ว
          2.  ตรวจให้คะแนนได้ง่าย
          3.  ถ้าสร้างข้อสอบดีแล้ว  ประมาณ 10 ข้อ  โอกาสที่จะเดาถูกมีน้อย
          4.  เหมาะสำหรับวัดความสามารถในการหาความสัมพันธ์
          5.  ประหยัดกระดาษและเนื้อที่ในการออกข้อสอบ
          ข้อจำกัดของข้อสอบแบบจับคู่
          ข้อสอบแบบจับคู่มีข้อจำกัด  ดังนี้
          1.  มักเป็นข้อสอบวัดความจำมากกว่าที่จะวัดสมรรถภาพสมองขั้นสูง
          2.  แต่ละข้อมีโอกาสในการเดาถูกไม่เท่ากัน ข้อแรกๆ โอกาสในการเดาถูกน้อย ส่วนข้อหลัง ๆ โอกาสในการเดาถูกมากขึ้นเพราะตัวเลือกมีน้อยลง
          3.  เป็นการยากที่จะทำให้ปัญหาและคำตอบทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน  ซึ่งทำให้โอกาสที่จะเสนอแนะคำตอบหรือช่วยในการเดามีมากขึ้น
          4.  บางครั้งคำหรือข้อความหนึ่งอาจจับคู่กับคำหรือข้อความอีกด้านหนึ่งได้มากกว่า  1  คำตอบ