ข้อสอบแบบเลือกตอบโดยทั่วไปจะประกอบด้วยข้อความ 2 ตอน คือตอนนำหรือ  ตัวคำถาม  เป็นข้อคำถามที่เป็นตัวเร้าให้ผู้สอบคิด  และตัวเลือก  เป็นคำตอบหลาย ๆ คำตอบ             เพื่อให้ผู้สอบเลือกตอบคำตอบใดคำตอบหนึ่ง  ตัวเลือกมี 2 ชนิด  คือตัวเลือกที่เป็นคำตอบถูกและตัวเลือกที่เป็นคำตอบผิดหรือตัวลวง   ข้อสอบแบบเลือกตอบที่นิยมใช้มี 3 แบบ  คือ
          1.   แบบคำถามเดี่ยว (Single Question) เป็นแบบที่นิยมใช้กันมาก  แต่ละข้อมีคำถามและตัวเลือกจบสมบูรณ์ในข้อนั้น ๆ เมื่อขึ้นข้อใหม่ก็มีคำถามใหม่และตัวเลือกใหม่
           2.   แบบตัวเลือกคงที่ (Constant Choice) เป็นแบบที่นิยมใช้ถามเกี่ยวกับเรื่องราวที่มีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง เช่น
           คำชี้แจง ให้นักศึกษาพิจารณาการตรวจสอบเครื่องมือวัดผลข้อ 1-5 ว่าแต่ละข้อ        เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะที่ดีของเครื่องมือในข้อใด ก-จ   
                     ก.    ความเที่ยงตรง
                     ข.    ความเชื่อมั่น
                     ค.    ความเป็นปรนัย
                     ง.    อำนาจจำแนก
                     จ.    ความยาก
               1.  ผลการสอบปรากฎว่าคนเก่งทำได้มากกว่าคนอ่อน
               2.  ผลการสอบบางข้อนักเรียนทำได้ทุกคน  และบางข้อนักเรียนทำไม่ได้เลย
               3.  ข้อสอบชุดนี้ออกไม่ครอบคลุมตามหลักสูตร
               4.  คำถามบางข้อแปลความหมายได้หลายๆ อย่าง
               5.  ผลการสอบสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันของผู้สอบ
            3.   แบบสถานการณ์ (Situational Test) เป็นแบบของข้อสอบที่ใช้วิธีการกำหนดข้อความ  ภาพ  ตาราง  ให้เด็กอ่านหรือพิจารณาดูก่อน  แล้วตั้งคำถามเกี่ยวกับข้อความ  ภาพ  หรือตารางที่กำหนดให้นั้น
            ข้อสอบแบบเลือกตอบประกอบด้วยตัวคำถามหรือตอนนำกับตัวเลือก  โดยตัวเลือกนั้นมีทั้งตัวถูกหรือเหมาะสมมากที่สุด  และตัวผิดหรือตัวลวง  ข้อสอบแบบเลือกตอบเป็นที่นิยมใช้มากในสถานศึกษา มีหลักในการเขียนดังนี้
             วิธีตั้งคำถาม
            
1.   ควรใช้ประโยคคำถาม   เพราะจะช่วยให้มีความชัดเจนเข้าใจได้ง่าย เช่น
                   “วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้”  ไม่มีคำแสดงการเป็นคำถาม      ควรจะเปลี่ยนเป็น         
                   “วันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรียกว่าวันอะไร”
             2.   เน้นจุดที่ถามให้ชัด เพื่อให้เกิดความเป็นปรนัยเข้าใจคำถามได้ตรงกัน  เช่น
                   “อาหารชนิดใดต่างจากชนิดอื่น”    ไม่ได้เน้นจุดที่ถามให้ชัดเจน  ควรจะเปลี่ยนเป็น
                   “อาหารชนิดใดให้คุณค่าต่างจากชนิดอื่น”
             3.   ถามในสิ่งที่ดีหรือเป็นประโยชน์  เพราะจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งที่ดีงาม  ถ้าจะถามในสิ่งที่ไม่ดีให้ถามในแง่ของโทษ  เช่น
                   “สิ่งใดที่สูบได้โดยไม่ผิดกฎหมาย” สิ่งไม่ดีแต่ถามในแง่ดี ควรจะเปลี่ยนเป็น
                   ”ยาเสพติดในข้อใดให้โทษน้อยที่สุด”
              4.   ถามสิ่งที่หาข้อยุติได้ตามหลักวิชา  เพื่อให้เด็กได้ใช้ความคิดที่มีหลักยืนยันได้  เช่น
                   “ถ้าโลกนี้ไม่มีน้ำมันจะเป็นอย่างไร” ไม่สามารถหาคำตอบที่ยึดถือในหลักวิชาได้  ควรเปลี่ยนเป็น
                   “การขาดแคลนน้ำมันจะกระทบกระเทือนต่อกิจการด้านใดมากที่สุด”
              5.   ถามให้ใช้ความคิด ไม่ถามเฉพาะจำตามตำรามาตอบ เช่น
                  “เนื้อมีส่วนประกอบอะไรมาก”    ไม่ได้ใช้ความคิด   ควรเปลี่ยนคำถามเป็น
                  “สิ่งใดรับประทานแทนเนื้อได้ดีที่สุด”
             6.   คำถามควรกะทัดรัด ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย ยืดยาว วกวน เช่น
                 ”การรับประทานส้มเป็นประจำจะทำให้ร่างกายได้รับวิตะมินชนิดใด  ใช้ภาษาฟุ่มเฟือย  ควรเปลี่ยนคำถามเป็น
                 “ส้มให้วิตะมินใด”
             7.   คำถามควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับระดับผู้สอบ เช่น ข้อสอบสำหรับเด็กอนุบาล  
                 “อาหารชนิดใดที่คนผอมควรบริโภค” ภาษาไมเหมาะกับเด็กควรเปลี่ยนเป็น
                “อาหารชนิดใดที่คนผอมควรรับประทาน”
            8.   หลีกเลี่ยงคำถามปฏิเสธโดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ เช่น
                “อะไรไม่เป็นศัตรูของความไม่พยาบาท”  มีปฏิเสธสองครั้ง ควรเปลี่ยนเป็น
                “อะไรเป็นศัตรูของความพยาบาท”
            9.   ควรใช้คำถามที่ยั่วยุหรือชวนให้คิด  เช่น
                  “1/3 มีค่าเท่ากับเศษส่วนข้อใด”  เด็กเบื่อไม่ชวนให้คิด ควรเปลี่ยนเป็น

                         “ส่วนแรเงาในภาพมีค่าเท่าไร”

           วิธีเขียนตัวเลือก
           1.   ตัวเลือกต้องมีความเป็นเอกพันธ์ ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้
                 1.1 เป็นเรื่องราวเดียวกัน   เป็นพวกเดียวกัน  หรือประเภทเดียวกัน  เช่น
                       “เชื้อเพลิงที่ดีมีลักษณะอย่างไร”
                        ก.  หาได้ง่าย
                        ข.  ไม่ต้องซื้อ
                        ค.  ติดไฟง่าย
                        ง.  ให้ความร้อนสูง
            ตัวเลือก ก  และ ข  ไม่ใช่เกี่ยวกับลักษณะของเชื้อเพลิง  ดังนั้นควรเปลี่ยนเป็น
                      “เชื้อเพลิงที่ดีมีลักษณะอย่างไร”
                        ก.  ติดไฟได้นาน
                        ข.  หาซื้อได้ง่าย
                        ค.  ติดไฟง่าย
                        ง.  ให้ความร้อนสูง
                 1.2 มีทิศทางเดียวกัน  เช่น
                       “การส่งเสริมการลงทุนในประเทศช่วยให้เกิดสิ่งใด”
                        
ก.  คนมีงานทำมากขึ้น
                         ข.  รัฐมีรายได้มากขึ้น
                         ค.  เงินมีการหมุนเวียน
                         ง.  ทรัพยากรถูกใช้มากขึ้น           
              คำถามมีทิศทางไปทางบวก  แต่ตัวเลือก จ มีทิศทางไปทางลบ  ดังนั้นควรเปลี่ยนให้มีทิศทางไปทางบวกเหมือนกับตัวเลือก ก  ข และ ค ดังนี้
                     การส่งเสริมการลงทุนในประเทศช่วยให้เกิดสิ่งใด
                        
ก.  คนมีงานทำมากขึ้น
                         ข.  รัฐมีรายได้มากขึ้น
                         ค.  เงินมีการหมุนเวียน
                         ง.  ทรัพยากรถูกใช้ให้เป็นประโยชน์
                  1.3 มีโครงสร้างสอดคล้องกัน  เช่น
                       “การทำลายป่าเกิดจากสาเหตุใดมากที่สุด”
                       
ก.  ความยากจน
                        ข.  คนต้องการที่ทำกิน
                        ค.  กฎหมายมีช่องว่าง
                        ง.  เจ้าหน้าที่ไม่กวดขัน
           ตัวเลือก ก มีโครงสร้างเป็นคำหรือวลี และตัวเลือก ข   ค  และ ง มีโครงสร้างเป็นประโยค ดังนั้นควรเปลี่ยนตัวเลือก ก ให้เป็นประโยคเหมือนกัน ดังนี้
                      “การทำลายป่าเกิดจากสาเหตุใดมากที่สุด”
                       ก.  ความยากจนมีมากขึ้น
                       ข.  คนต้องการที่ทำกิน
                       ค.  กฎหมายมีช่องว่าง
                       ง.  เจ้าหน้าที่ไม่กวดขัน
            2.   ใช้ตัวเลือกที่เป็นไปได้  เช่น
                  “การกระทำใดที่จัดได้ว่าใช้เงินอย่างประหยัด”
                      ก.  ซื้อในสิ่งที่จำเป็น
                      ข. ใช้เพียงบางส่วนที่มี
                      ค. เก็บสะสมเมื่อมีโอกาส
                      ง.  อดมื้อกินมื้อเพื่อเก็บเงิน
            ตัวเลือก ง  ตัวเลือกที่ผิดหลักการประหยัดซึ่งเป็นตัวเลือก ที่เป็นไปไม่ได้  เขียนไปผู้สอบก็ไม่เลือกซึ่งผิดเด่นชัดเกินไป  ควรเปลี่ยนดังนี้
                   “การกระทำใดที่จัดได้ว่าใช้เงินอย่างประหยัด”
                      ก.  ซื้อในสิ่งที่จำเป็น
                      ข.  ใช้เพียงบางส่วนที่มี
                      ค.  เก็บสะสมเมื่อมีโอกาส
                      ง.  ซื้อสิ่งของที่ราคาถูก