การตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบที่ใช้ในการวัดผลจะต้องทำการตรวจสอบคุณภาพด้านต่างๆ ที่จำเป็นของแบบทดสอบแต่ละชนิดดังต่อไปนี้
         1.  ความเที่ยงตรง  (Validity) เป็นความถูกต้องสอดคล้องของแบบทดสอบกับสิ่งที่ต้องการจะวัด  ซึ่งเป็นคุณลักษณะของแบบทดสอบที่ถือว่าสำคัญที่สุด  โดยมีเกณฑ์ในการเปรียบเทียบ คือ  เนื้อหา  โครงสร้าง   สภาพปัจจุบัน   และอนาคต
          2.  ความเชื่อมั่น  (Reliability)  เป็นความคงเส้นคงวาของคะแนนในการวัดแต่ละครั้ง หรือ  ความคงที่ของผลการวัด   ผลของการวัดไม่ว่าจะเป็นคะแนนหรืออันดับที่ก็ตาม เมื่อวัดได้ผลออกมาแล้วสามารถเชื่อถือได้ในระดับสูงจนสามารถประกันได้ว่า  ถ้ามีการตรวจสอบผลซ้ำอีกไม่ว่า     กี่ครั้งก็จะได้ผลใกล้เคียงและ  สอดคล้องกับผลการวัดเดิมนั่นเอง
          3.   ความเป็นปรนัย  (Objectivity) เป็นความชัดเจนที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการวัดผล ครั้งนั้นมีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องของคำถาม ค่าของคะแนนหรืออันดับที่ที่วัดได้ ตลอดจนการแปลงค่าคะแนนเป็นผลประเมินในการตัดสินคุณค่าก็สอดคล้องตรงกัน  การพิจารณาความเป็นปรนัยของแบบทดสอบมีหลายประการ   คุณสมบัติความเป็นปรนัยของแบบทดสอบที่สำคัญ ได้แก่  คุณสมบัติ  3  ประการ ดังนี้
                3.1 ชัดแจ้งในความหมายของคำถาม ข้อสอบที่เป็นปรนัย  ทุกคนที่อ่านข้อสอบ ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบหรือผู้ตรวจข้อสอบย่อมจะเข้าใจตรงกันไม่ตีความไปคนละแง่
                3.2  ตรวจให้คะแนนได้ตรงกัน ข้อสอบที่มีความเป็นปรนัย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออก  ข้อสอบหรือใครก็ตามสามารถตรวจให้คะแนนได้ตรงกัน ข้อสอบที่ผู้ตรวจเฉลยไม่ตรงกัน แสดงให้เห็นถึงความไม่ชัดเจนในคำถามและคำตอบ
                3.3  แปลความหมายของคะแนนได้ตรงกัน โดยทั่วไปข้อสอบปรนัยนั้นผู้ตอบถูกจะได้ 1 คะแนน  ตอบผิดจะได้ศูนย์คะแนน จำนวนคะแนนที่ได้จะแทนจำนวนข้อที่ถูก  ทำให้สามารถแปลความหมายได้ชัดเจนว่าใครเก่ง  อ่อนอย่างไร ตอบถูกมากน้อยต่างกันอย่างไร
          ข้อสอบประเภทถูกผิด  จับคู่   เติมคำ  หรือเลือกตอบที่ขาดคุณสมบัติข้อใดข้อหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสอบปรนัยเฉพาะรูปแบบของข้อสอบเท่านั้น  ส่วนคุณสมบัติยังไม่เป็นปรนัยความเป็นปรนัยของข้อสอบจะทำให้เกิดคุณสมบัติทางความเชื่อมั่นของคะแนนอันจะนำไปสู่ความเที่ยงตรงของผลการวัดด้วย 
          4.   ความยากง่าย  (Difficulty)  ความยากง่ายของข้อสอบพิจารณาได้จากผลการสอบของผู้สอบเป็นสำคัญ  ข้อสอบใดที่ผู้สอบส่วนมากตอบถูก  ค่าคะแนนเฉลี่ยของข้อสอบสูงกว่า  50 เปอร์เซ็นต์ ของคะแนนเต็ม  อาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อสอบที่ง่าย หรือค่อนข้างง่าย   ข้อสอบที่มีความยากง่ายพอเหมาะ  คะแนนเฉลี่ยของข้อสอบควรมีประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ของคะแนนเต็ม    ถ้าคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่า  50 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเป็นข้อสอบค่อนข้างยาก   ข้อสอบที่ดีควรมีความยากง่ายพอเหมาะ  ไม่ยากหรือง่ายเกินไป ข้อสอบฉบับหนึ่งควรมีผู้ตอบถูกไม่ต่ำกว่า 20 คนและไม่เกิน 80 คน จากผู้สอบ 100  คน 
           5.   อำนาจจำแนก (Discrimination) เป็นลักษณะของแบบทดสอบที่สามารถออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ทุกระดับ  ตั้งแต่อ่อนสุดจนถึงเก่งสุด  แม้ว่าจะเก่ง – อ่อนกว่ากันเพียงเล็กน้อยก็สามารถชี้จำแนกให้เห็นได้  ข้อสอบที่มีอำนาจจำแนกสูงนั้น  เด็กเก่งมักตอบถูกมากว่าเด็กอ่อนเสมอ  ข้อสอบที่ทุกคนตอบถูกหมดจะไม่สามารถบอกอะไรได้เลย  หรือข้อสอบที่ทุกคนตอบผิดหมดไม่สามารถบอกได้ว่าใครเก่งหรืออ่อน
           6.  ความมีประสิทธิภาพ  (Efficiency) เครื่องมือวัดผลที่มีประสิทธิภาพ  หมายถึง  เครื่องมือที่ทำให้ได้ข้อมูลได้ถูกต้องเชื่อถือได้  โดยลงทุนน้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในแง่เวลา  แรงงาน  และทุนทรัพย์ รวมทั้งความสะดวกสบาย คล่องตัวในการรวบรวมข้อมูล  ข้อสอบที่มีประสิทธิภาพสามารถให้คะแนนได้เที่ยงตรงและเชื่อถือได้มากที่สุด โดยใช้เวลาแรงงานและเงินน้อยที่สุด  แต่ประโยชน์ที่ได้จากการสอบคุ้มค่า  ข้อสอบที่พิมพ์ผิดตกหล่นมาก  จำนวนหน้า ไม่ครบ  รูปแบบของแบบทดสอบเรียงไม่เป็นระเบียบทำให้ผู้สอบเกิดความสับสน  มีผลต่อคะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบทั้งสิ้น การจัดรูปแบบของข้อสอบปรนัยแบบเลือกตอบเพื่อให้ดูง่าย     มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยนิยมพิมพ์แบ่งครึ่งหน้ากระดาษ
            7.   ความยุติธรรม (Fair) ความยุติธรรมเป็นคุณลักษณะของข้อสอบที่ดีต้องไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น  ข้อสอบบางฉบับครูไปเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ซึ่งตรงกับเรื่องที่เด็กทำรายงานในบางกลุ่ม ทำให้กลุ่มนั้น ๆ ได้เปรียบคนอื่น ๆ ข้อสอบบางข้อใช้คำถามหรือข้อความที่แนะคำตอบ ทำให้นักเรียนใช้ไหวพริบเดาได้   การใช้ข้อสอบแบบอัตนัยเพียง  5  หรือ 10 ข้อ มาทดสอบเด็กนั้นไม่อาจสร้างความยุติธรรมในการสอบให้แก่เด็กได้ เพราะผู้สอบมีโอกาสเก็งข้อสอบได้ถูกมากกว่าแบบปรนัยที่มีจำนวนข้อมาก ๆ เช่น  100 ข้อ
            8.  คำถามลึก  (Searching)  ข้อสอบที่ถามลึกไม่ถามแต่เพียงความรู้ความจำเท่านั้น  แต่จะถามวัดความเข้าใจ  การนำความรู้ที่ได้เรียนไปแล้วมาแก้ปัญหา วิเคราะห์ ตลอดจนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมาจนท้ายที่สุดคือการประเมินผล  คำถามที่ถามลึกนั้นผู้ตอบต้องคิดค้นก่อนจึงจะสามารถหาคำตอบได้  มิใช่เพียงแต่ระลึกถึงประสบการณ์ต่างๆเพียงตื้นๆ ก็ตอบปัญหาได้ แต่เป็นแบบทดสอบที่วัดความลึกซึ้งทางวิชาการตามแนวดิ่งมากกว่าจะวัดตามแนวกว้าง
           9.   คำถามยั่วยุ  (Exemplary) คำถามยั่วยุ ได้แก่ คำถามที่มีลักษณะท้าทายให้เด็กอยากคิดอยากทำ  มีลีลาการถามที่น่าสนใจ ไม่ถามวนเวียนซ้ำซากน่าเบื่อหน่าย การใช้รูปภาพประกอบ   ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ข้อสอบน่าสนใจ ข้อสอบที่ยากเกินไปทำให้ผู้สอบหมดกำลังใจที่จะทำ         ส่วนข้อสอบที่ง่ายเกินไปก็ไม่ท้าทายให้อยากทำ   การเรียงลำดับคำถามจากข้อง่ายไปหายากเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ข้อสอบมีลักษณะท้าทายน่าทำ
        10.  จำเพาะเจาะจง  (Definite)  คำถามที่ดีต้องไม่ถามกว้างเกินไป  ไม่ถามคลุมเครือหรือเล่นสำนวนให้ผู้สอบงง ผู้สอบอ่านแล้วต้องเข้าใจชัดเจนว่าครูถามอะไร ส่วนจะตอบได้หรือไม่อยู่ที่ความสามารถของผู้ตอบเป็นสำคัญ