เลือกหน่วยการเรียน
       ปรัชญามีความหมายกว้างขวางเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดของบุคคลและมีลักษณะเป็นนามธรรม การที่จะให้ความหมายของคำว่าปรัชญาที่แน่นอนจึงเป็นเรื่องยากแต่นักปรัชญาและนักคิด  ก็ได้พยายามให้ความหมายของปรัชญาไว้มากมาย ซึ่งความหมายหนึ่งอาจเป็นที่ยอมรับของคนกลุ่มหนึ่งแต่อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนอีกกลุ่มหนึ่ง  สุดแล้วแต่ว่าบุคคลใดจะมีมุมมองอย่างไร
ความหมายของคำว่า  ปรัชญา  แยกออกเป็น  2  ลักษณะ  คือ ความหมายตามรูปศัพท์  และความหมายตามทัศนะของนักปรัชญา(คลิกอ่านรายละเอียด คลิกอีกครั้งซ่อน)

 ความหมายตามรูปศัพท์

        คำว่า Philosophy ตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษ  ผู้ที่นำมาใช้ คือ ไพทากอรัส  (pythagoras)  เป็นผู้เริ่มใช้คำนี้เป็นคนแรก  มาจากภาษากรีกว่า  Philosophia  เป็นคำสนธิระหว่างคำว่า  Philos  แปลว่า ความรัก ความสนใจ  ความเลื่อมใส  กับคำว่า  Sophia  ซึ่งแปลว่า  ความรู้  ความสามารถ ความฉลาด  ปัญญา  เมื่อรวม  2  คำเข้าด้วยกัน ก็จะได้คำแปลว่าความรักในความรู้  ความรักในความฉลาด  หรือความรักในความปราดเปรื่อง (Love  of  Wisdow)  ความหมายตามรูปศัพท์ภาษาอังกฤษเน้นที่ทัศนคติ  นิสัย  ความตั้งใจ  และกระบวนการในการแสวงหาความรู้
คำว่าปรัชญาในภาษาไทยเป็นคำที่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์  ทรงบัญญัติขึ้นใช้แทนคำว่า Philosophy ในภาษาอังกฤษ เป็นการบัญญัติเพื่อให้มีคำภาษาไทยว่าปรัชญา  ใช้คำว่า ปรัชญา  เป็นคำในภาษาสันสกฤต  ประกอบด้วยรูปศัพท์  2 คำ คือ ปร  ซึ่งแปลว่าไกล  สูงสุด  ประเสริฐ  และคำว่า ชญา  หมายถึงความรู้  ความเข้าใจ  เมื่อรวมกันเป็นคำว่า ปรัชญาจึง หายถึง ความรู้อันประเสริฐ  เป็นความรอบรู้  รู้กว้างขวาง  ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาไทยเน้นที่ตัวความรู้หรือผู้รู้  ซึ่งเป็นความรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้ง  ประเสริฐ (ไพฑูรย์  สินลารัตน์, 2523 ; 2)

ความหมายตามทัศนะของนักปรัชญา

           นักปรัชญาและนักคิดได้อธิบายถึงความหมายของปรัชญาไว้แตกต่างกัน  เพราะปรัชญาถือว่าเป็นศาสตร์ของศาสตร์ทั้งหลาย  ซึ่งหมายถึงว่าปรัชญาเป็นวิชาแม่บทของวิชาการแขนง อื่น ๆ และมีความสัมพันธ์กับวิชาทุก ๆ สาขาด้วย (บรรจง  จันทรสา, 2522 : 3)  ปรัชญาจะทำหน้าที่     สืบค้นเรื่องราวต่าง ๆ ที่มนุษย์ยังไม่รู้และสงสัย  จนกระทั่งรู้ความจริงและมีคำตอบของตนเองอย่าง      ชัดเจนในเรื่องราวนั้น  ก็จะแยกตัวเป็นวิชาหรือศาตร์ต่างหากออกไป  วิชาที่แยกตัวออกไปเป็นวิชาแรกคือ  ศาสนา  จากนั้นก็มีการพัฒนาวิชาอื่น ๆ กลายเป็นศาสตร์ต่าง ๆ มากมาย  เมื่อมีศาสตร์พัฒนาออกไปมาก  เนื้อหาของปรัชญาก็ไม่ค่อยมี  แต่ปรัชญาจะทำหน้าที่ในการทำเนื้อหาของศาสตร์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์และหาทางพัฒนาศาสตร์นั้นเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
ได้มีนักคิด นักปรัชญานักวิชาการได้พยายามให้ความหมายของปรัชญาไว้แตกต่างกันดังนี้

    1. ปรัชญา คือ ศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหมวดหมู่ หรือระบบความรู้สาขาต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและแปลความหมายข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างสมบูรณ์แบบ ปรัชญาจะประกอบด้วยวิชา  ตรรกวิทยา  จริยศาสตร์  สุนทรียศาสตร์  อภิปรัชญา  และศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้ทั้งปวงของมนุษย์  (Good, 1959 : 395)
    2. ปรัชญา คือ ความคิดเห็นใดที่ยังพิสูจน์ไม่ได้  หรือยังสรุปผลแน่นอนไม่ได้  แต่ถ้าพิสูจน์ได้จนลงตัวแล้วก็จัดว่าเป็นศาสตร์ (จำนง  ทองประเสริฐ, 2524 : 2)
    3. ปรัชญา คือ ศาสตร์ชนิดหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดหมวดหมู่หรือแบบความรู้สาขาต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจและแปลความหมายข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์แบบ (ภิญโญ  สาธร, 2514 : 21)

      ความหมายของปรัชญามีผู้ให้ทัศนะไว้อีกมากมาย และจะมีความแตกต่างกันตามลักษณะของปรัชญาแต่ละยุคแต่ละสมัยและตามทัศนะของบุคคล  สรุปปรัชญาจะมีลักษณะดังนี้ 
     1)  ทำหน้าที่รวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ ของโลกและชีวิตไว้ทั้งหมด
     2)  พยายามหาคำตอบที่เป็นความจริงอันเป็นนิรันดร์  สามารถอธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
     3)  ใช้วิธีการทางตรรกวิทยาในการค้นหาความจริง ซึ่งเป็นวิธีการคิดอย่างมีเหตุและผล
     4)  เนื้อหาของปรัชญาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย แล้วแต่ว่าจะสนใจที่จะศึกษาในเรื่องใดหรือปัญหาใด อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ


สาขาของปรัชญา 
ปรัชญาแบ่งออกเป็น  3  สาขา คือ

1. อภิปรัชญา (Metaphysics) หรือ ภววิทยา (Onthology)

       เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความจริง  (Reality)  เพื่อค้นหาความจริงอันเป็นสิ่งสูงสุด  (Ultimate  reality)  ได้แก่  ความจริงที่เกี่ยวกับธรรมชาติ  จิตวิญญาณ รวมทั้งเรื่องของพระเจ้าอันเป็นบ่อเกิดของศาสนา

2. ญาณวิทยา (Epistemology)

       เป็นการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับความรู้  (Knowledge)  ศึกษาธรรมชาติของความรู้  บ่อเกิดของความรู้  ขอบเขตของความรู้  ซึ่งความรู้จะได้มาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น จากพระเจ้าประทานมา  ซึ่งปรากฎอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญที่ทำการศึกษาค้นคว้าปรากฎในตำรา  เกิดจากการหยั่งรู้  เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นมาในทันทีทันใด  เช่น พระพุทธเจ้าตรัสรู้  หรือเป็นความรู้ที่เกิดจากการพิจารณาเหตุและผล  หรือได้จากการสังเกต


3. คุณวิทยา (Axiology)

        ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับคุณค่าหรือค่านิยม  (Value)  เช่น  คุณค่าเกี่ยวกับความดีและความงาม  มีอะไรเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่า  อย่างไรดี  อย่างไรงาม  แบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

       3.1  จริยศาสตร์  (Ethics) ได้แก่ คุณค่าแห่งความประพฤติ  หลักแห่งความดี  ความถูกต้อง  เป็นคุณค่าทางจริยธรรม  เป็นคุณค่าภายใน
       3.2  สุนทรียศาสตร์ (Anesthetics) ได้แก่ คุณค่าของความงามทางศิลปะ ซึ่งสัมพันธ์กับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์  ซึ่งตัดสินได้ยากและเป็นอัตนัย  เป็นคุณค่าภายนอก



 
 
กลับหน้าก่อน      หน้าถัดไป
 
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพร     
ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร 86190 โทร. 0-7753-4279 โทรสาร. 0-7753-4277