เลือกหน่วยการเรียน
        ปรัชญาพื้นฐาน  หรือ ปรัชญาทั่วไป  เมื่อพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษามี 
4  ลัทธิ  ได้แก่ (คลิกอ่านรายละเอียด คลิกอีกครั้งซ่อน)

 1. ลัทธิจิตนิยม (Idialism)

      เป็นลัทธิปรัชญาที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาปรัชญาต่าง ๆ มีกำนิดดมาพร้อม  ๆ กับการเริ่มต้นของปรัชญา ปรัชญาลัทธินี้ถือเรื่องจิตเป็นสิ่งสำคัญมีความเชื่อว่าสิ่งที่เป็นจริงสูงสุดนั้น  ไม่ใช่วัตถุหรือตัวตน  แต่เป็นเรื่องของความคิดซึ่งอยู่ในจิต (Mind) สิ่งที่เราเห็นหรือจับต้องได้นั้น ยังไม่ใช่    ความจริงที่แท้  ความจริงที่แท้จะมีอยู่ในโลกของจิต  (The  world  of  mind)  เท่านั้น  ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของแนวความคิด  ตามลัทธิปรัชญานี้ คือ พลาโต (Plato)  นักปรัชญาเมธีชาวกรีกซึ่งมีความเชื่อว่า  การศึกษาคือการพัฒนาจิตใจ มากกว่าอย่างอื่น
ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิจิตนิยมในแง่สาขาของปรัชญา  แต่ละสาขาจะได้ดังนี้

         1.1 อภิปรัชญา  ถือว่า สิ่งที่เป็นจริงสูงสุดเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม ต้องพัฒนาคนในด้านจิตใจมากกว่าวัตถุ
       1.2 ญาณวิทยา  ถือว่า  ความรู้เกิดจากความคิดหาเหตุผล  และการวิเคราะห์แล้วสร้างเป็นความคิดในจิตใจ ส่วนความรู้ที่ได้จากการสัมผัสด้วยประสาททั้งห้าไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริง
       1.3 คุณวิทยา ถือว่า คุณค่าความดีความงามมีลักษณะตายตัวคงทนถาวรไม่            เปลี่ยนแปลง  ในด้านจริยศาสตร์  ศีลธรรม จริยธรรม  จะไม่เปลี่ยนแปลง  ส่วนสุนทรีศาสตร์นั้น การถ่ายทอดความงาม  เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และอุดมการณ์อันสูงส่ง    
  
        สรุป
ปรัชญาลัทธิจิตนิยมเป็นการพัฒนาด้านจิตใจ ส่งเสริมการพัฒนาทางด้าน            คุณธรรม  จริยธรรม  ศิลปะต่าง ๆ การจัดการศึกษาตามแนวจิตนิยมจึงเน้นในด้านอักษรศาสตร์และศิลปศาสตร์ เป็นผู้มีความรอบรู้โดยเฉพาะในตำรา การเรียนการสอนมักจะใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้า และถ่ายทอดเนื้อหาวิชาสืบต่อกันไป

2. ลัทธิวัตถุนิยม หรือสัจนิยม (Realism)

          เป็นลัทธิปรัชญาที่มีความเชื่อในโลกแห่งวัตถุ  (The  world  of  things)  มีความเชื่อว่าการแสวงหาความจริงด้วยจิตตามแนวคิดของจิตนิยมอย่างเดียวไม่พอต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามธรรมชาติด้วยความจริงที่แท้คือ  วัตถุที่ปรากฎแก่สายตา  สามารถสัมผัสได้  สิ่งเหล่านี้เป็น
พื้นฐานของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์  บิดาของลัทธินี้คือ  อริสโตเติล  (Aristotle)  นักปราชญ์ชาวกรีก  ลัทธิปรัชญาสาขานี้เป็นต้นกำเนิดของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์
ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิวัตถุนิยมในแง่สาขาของปรัชญา จะได้ดังนี้

    1. อภิปรัชญา  เชื่อว่า ความจริงมาจากธรรมชาติ  ซึ่งประกอบด้วยสิ่งที่เป็นวัตถุสามารถสัมผัสจับต้องได้ และพิสูจน์ได้ด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์
    2. ญาณวิทยา  เชื่อว่า  ธรรมชาติเป็นบ่อเกิดความรู้ทั้งมวล  ความรู้ได้มาจากการได้เห็น  สัมผัสด้วยประสาทสัมผัส ถ้าสังเกตไม่ได้มองไม่เห็น  ก็ไม่ถือว่าเป็นความรู้ที่แท้จริง
    3. คุณวิทยา  เชื่อว่า  ธรรมชาติสร้างทุกสิ่งทุกอย่างมาดีแล้ว  ในด้านจริยศาสตร์
      ก็ควรประพฤติปฏิบัติไปตามกฎธรรมชาติ  กฎธรรมชาติก็คือศีลธรรมจรรยา  ขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งใช้ควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ ส่วนสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความงดงามตามธรรมชาติ  สะท้อนความงามตามธรรมชาติออกมา

         สรุป  ปรัชญาลัทธิสัจนิยม  เป็นความจริงตามธรรมชาติ การศึกษาหาความจริงได้จากการสังเกต  สัมผัส  จับต้อง  และเชื่อในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ  การศึกษาในแนวลัทธิสัจนิยมเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์  เป็นต้นกำเนิดของวิชาวิทยาศาสตร์


3. ลัทธิประสบการณ์นิยม (Experimentalism)

       เป็นปรัชญาที่มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า  ปฏิบัตินิยม  (Pragmatism)  ปรัชญากลุ่มนี้มี        ความสนใจโลกแห่งประสบการณ์  ฝ่ายวัตถุนิยมจะเชื่อในความเป็นจริงเฉพาะสิ่งที่มนุษย์พบเห็นได้ เป็นธรรมชาติที่ปราศจากการปรุงแต่งเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์  ส่วนประสบการณ์นิยม  มิได้หมายถึง       สิ่งที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันเท่านั้น  แต่หมายรวมถึงทุกอย่างที่มนุษย์กระทำ  คิด  และรู้สึกรวมถึงการคิดอย่างใคร่ครวญและลงมือกระทำ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้กระทำ  กระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้นครบถ้วนแล้ว จึงเรียกว่าเป็นประสบการณ์  ความเป็นจริงหรือประสบการณ์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามเงื่อนไขแห่งประสบการณ์  บุคคลที่เป็นผู้นำของแนวความคิดนี้  คือวิลเลี่ยม  เจมส์ (William,  James)  และจอห์น  ดิวอี้  (John  Dewey)  ชาวอเมริกัน  วิลเลี่ยม  เจมส์ มีความเห็นว่าประสบการณ์และการปฏิบัติเป็นสิ่งสำคัญ  ส่วนจอห์น  ดิวอี้  เชื่อว่ามนุษย์จะได้รับความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์เท่านั้น
ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิประสบการณ์นิยมในแง่ของสาขาของปรัชญา  จะได้ดังนี้

    1. อภิปรัชญา  เชื่อว่า  ความจริงเป็นโลกแห่งประสบการณ์  สิ่งใดที่ทำให้สามารถได้รับประสบการณ์ได้  สิ่งนั้นคือความจริง
    2. ญาณวิทยา เชื่อว่า ความรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการลงมือปฏิบัติกระบวนการแสวงหาความรู้ก็ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
    3. คุณวิทยา  เชื่อว่า ค่านิยมจะเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติทางด้านศีลธรรม จรรยาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างและกำหนดขึ้นมาเอง  และสามารถเปลี่ยนแปลงได้  ส่วนสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องของความต้องการและรสนิยมที่คนส่วนใหญ่ยอมรับกัน

        สรุป  ปรัชญาลัทธิประสบการณ์นิยม  เน้นให้คนอาศัยประสบการณ์ในการแสวงหาความเป็นจริง และความรู้ต่าง ๆ ได้มาจากประสบการณ์  การศึกษาในแนวลัทธิปรัชญานี้เน้นการลงมือกระทำเพื่อหาความจริงด้วยตัวของเราเอง

4. ลัทธิอัตถิภาวนิยม (Existentialism)

      เป็นลัทธิปรัชญาที่เกิดหลังสุดมีแนวความคิดที่น่าสนใจและท้าทายต่อการแสวงหาของนักปรัชญาในปัจจุบัน
ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม มีความเชื่อว่า  มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความว่างเปล่าไม่มีลักษณะใด ๆ ติดตัวมาทุกคนมีหน้าที่เลือกลักษณะหรือสาระต่าง ๆ ให้กับตัวเอง การมีอยู่ของมนุษย์ (เกิด)  จึงมีมาก่อนลักษณะของมนุษย์  หลักสำคัญของปรัชญานี้จะให้ความสำคัญแก่มนุษย์มากที่สุด  มนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามความพอใจและจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก
ถ้าพิจารณาปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยมในแง่สาขาของปรัชญาจะได้ ดังนี้

    1. อภิปรัชญา  ความจริงเป็นอย่างไร  ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลจะพิจารณา และกำหนดว่าอะไรคือความจริง
    2. ญาณวิทยาการ  แสวงหาความรู้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลที่จะเลือกสรรเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
    3. คุณวิทยา  ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกค่านิยมที่ตนเองพอใจด้วยความสมัครใจส่วนความงามนั้น  บุคคลจะเป็นผู้เลือกและกำหนดเอง โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ผู้อื่นพอใจ

         สรุป ปรัชญาลัทธิอัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาที่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์ว่า มีความสำคัญสูงสุด  มีความเป็นตัวของตัวเอง  สามารถเลือกกระทำสิ่งใด ๆ ได้ตามความพอใจ  แต่จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่กระทำ  การศึกษาในแนวลัทธิปรัชญานี้  จะให้ผู้เรียนมีอิสระในการแสวงหา  ความรู้เลือกสรรสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเสรี  มีการกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง แต่ต้องรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม


           ความหมายของปรัชญาการศึกษา  มีผู้ให้คำนิยามปรัชญาการศึกษาแตกต่างกันหลายทัศนะดังต่อไปนี้

           จอร์จ  เอฟ  เนลเลอร์  (Kneller, 1971 : 2)  กล่าวว่า ปรัชญาการศึกษา คือการค้นหาความเข้าใจในเรื่องการศึกษาทั้งหมด  การตีความหมายโดยใช้ความคิดรวบยอดทั่วไป  ที่จะช่วยแนะแนวทาง ในการเลือกจุดมุ่งหมายและนโยบายของการศึกษา
           เจมส์  อี  แมดเดลนเลน (Meclellen, 1976 : 1)  กล่าวว่า  ปรัชญาการศึกษา คือ สาขาวิชาหนึ่งในบรรดาสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมาย  อันเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของมนุษย์
           วิจิตร  ศรีสะอ้าน  (2524 : 109)  กล่าวว่า  ปรัชญาการศึกษา คือ จุดมุ่งหมาย ระบบความเชื่อ  หรือแนวความคิดที่แสดงออกมาในรูปของอุดมการณ์  หรืออุดมคติ  ทำนองเดียวกันกับที่ใช้ในความหมายของปรัชญาชีวิตซึ่งหมายถึง  อุดมการณ์ของชีวิต  อุดมคติของชีวิต  แนวทางดำเนินชีวิตนั่นเอง  ฉะนั้น  ปรัชญาการศึกษา  คือ  จุดมุ่งหมายของการศึกษานั่นเอง

           สรุป  ปรัชญาการศึกษา คือ แนวความคิด  หลักการ  และกฎเกณฑ์  ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา  ซึ่งนักการศึกษาจะได้ยึดเป็นหลักในการดำเนินการทางการศึกษา  เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา  ทำให้สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน  ปรัชญาการศึกษาจึงเปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้นักการศึกษาดำเนินการทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ  ชัดเจนและ
สมเหตุสมผล



 
 
กลับหน้าก่อน      หน้าถัดไป
 
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพร     
ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร 86190 โทร. 0-7753-4279 โทรสาร. 0-7753-4277