ปรัชญาการศึกษามีอยู่มากมายหลายลัทธิ ตามลักษณะและตามธรรมชาติของมนุษย์
ที่ต่างก็คิดและเชื่อไม่เหมือนกันอาศัยแนวคิดของปรัชญาพื้นฐานที่แตกต่างกัน หรือนำมาผสมผสานกันทำให้มีลักษณะที่คาบเกี่ยวกัน หรืออาจจะมาจากแนวคิดของปรัชญาพื้นฐานสาขาเดียวกัน ดังนั้นปรัชญาการศึกษาจึงมีหลายลัทธิ หลายระบบ ปรัชญาการศึกษาที่เป็นที่นิยมกันมีดังต่อไปนี้
(คลิกอ่านรายละเอียด คลิกอีกครั้งซ่อน)
1. ปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม (Essentialism)
เป็นปรัชญาการศึกษาที่เกิดในอเมริกา เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1930 โดยการนำของวิลเลี่ยม ซี แบคลี (William C Bagiey) และคณะได้รวมกลุ่มกันเพื่อเผยแพร่แนวคิดทางการศึกษาฝ่ายสารัตถนิยม และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังนิยมเรื่อยมาอีกเป็นเวลานานเพระมีความเชื่อว่าลัทธิปรัชญาสารัตถนิยมมีความเข้มแข็งในทางวิชาการมีประสิทธิภาพในการสร้างค่านิยมเกี่ยวกับระเบียบวินัยได้ดีพอที่จะทำให้โลกเสรีต่อสู้กับโลกเผด็จการของคอมมิวนิสต์ (ภิญโญ สาธร, 2525 : 31)
- แนวความคิดพื้นฐาน เป็นปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยมมาจากปรัชญา
พื้นฐาน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายจิตนิยม ซึ่งมีความเชื่อว่า จิตเป็นส่วนสำคัญที่สุดในชีวิตของคน การที่จะรู้และเห็นความจริงได้ก็ด้วยความคิด (Ideas) อีกฝ่ายหนึ่งคือ วัตถุนิยม ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของวัตถุในธรรมชาติที่เราเห็น สัมผัส หรือมีประสบการณ์ต่อสิ่งเหล่านั้น ทั้ง 2 ฝ่ายรวมกันกลายเป็นเนื้อหาหรือสาระ (Essence) หรือ สารัตถศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ให้ความสนใจในเนื้อหาเป็นหลักสำคัญ ถือว่าเนื้อหาสาระต่าง ๆ เช่น ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ค่านิยม และอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ดีงามถูกต้อง ได้รับการกลั่นกรองมาดีแล้ว ควรจะได้รับการทะนุบำรุงและถ่ายทอดไปให้แก่คนรุ่นหลังถือเป็นการอนุรักษ์และถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม
- แนวความคิดทางการศึกษา ปรัชญานี้ มีความเชื่อว่า การศึกษาควรมุ่งพัฒนาความสามารถที่มนุษย์มีอยู่แล้ว เช่น ความสามารถในการจำ ความสามารถในการคิด ความสามารถที่จะรู้สึก ฯลฯ การศึกษาควรมุ่งที่จะถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมกันมา ความเชื่อความศรัทธาต่าง ๆ
ที่ยึดถือกันว่าเป็นอมตะอบรมให้มนุษย์มีความคิดเห็น และมีความเป็นอยู่สมสถานะของการเป็นมนุษย์ (Wing, 1974 : 234) ดังนั้น จึงควรจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ทักษะนิยม ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต รู้จักรักษาและสืบทอดวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไว้
1) จุดมุ่งหมายของการศึกษา มี 2 ระดับ คือ ระดับที่กว้างได้แก่การถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสังคมมีความเฉลียวฉลาด ในระดับที่แคบ มุ่งพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์ เพื่อให้มีความเฉลียวฉลาด มีความประพฤติดี เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่คนรุ่นหลัง
2) องค์ประกอบของการศึกษา
- หลักสูตร ยึดเนื้อหาวิชาเป็นสำคัญ เนื้อหาที่เป็นวิชาพื้นฐาน ได้แก่ ภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเนื้อหาที่เกี่ยวกับศิลปะ ค่านิยม และวัฒนธรรม หลักสูตรจะเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศและจัดเตรียมโดยครูหรือผู้เชี่ยวชาญโดยจัดเรียงลำดับตามความยากง่าย
- ครู เป็นบุคคลที่มีความสำคัญอย่างมาก การศึกษาจะต้องมาจากครูเท่านั้น ครูจะทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้ เพราะครูเป็นผู้ที่รู้เนื้อหาที่ถูกต้องที่สุด ครูเป็นผู้กำหนด
กิจกรรมในห้องเรียน กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ครูเป็นต้นแบบที่นักเรียนจะต้องทำตามเปรียบเสมือนแม่พิมพ์
- ผู้เรียน หรือนักเรียนตามปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม จะต้องเป็นผู้สืบทอดค่านิยมไว้แล้วถ่ายทอดไปยังคนรุ่นหลัง ผู้เรียนจะต้องเชื่อฟังคำสั่งสอนของครูหรือผู้ใหญ่ ที่ได้กำหนดเนื้อหาสาระไว้ นักเรียนเป็นผู้รับฟัง และทำความเข้าใจในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ แล้วจดจำไว้เพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อไป นักเรียนไม่จำเป็นต้องมีความคิดริเริ่ม คอยรับฟังอย่างเดียวแล้วจดจำไว้เท่านั้น
- โรงเรียน มีบทบาทในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคม สังคมมอบหมายให้ทำอย่างไรก็ทำไปตามนั้น คือ โรงเรียนเป็นเครื่องมือของสังคม ทำหน้าที่ตามที่สังคมมอบหมายเท่านั้น ไม่ต้องไปแนะนำ หรือเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งอย่างใดแก่สังคม มีหน้าที่อนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่และถ่ายทอดต่อไป เพราะถือว่าทุกอย่างในสังคมดีแล้ว โรงเรียนจะต้องสร้างบรรยากาศของการศึกษาเพื่อพัฒนาสติปัญญา จริยธรรม และถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นต่อไป นอกจากนี้โรงเรียนยังต้องยึดกฎระเบียบให้อยู่ในกรอบที่สังคมต้องการ
- กระบวนการเรียนการสอน ขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ ครูเป็นผู้อธิบายชี้แจงให้นักเรียนเข้าใจวิธีการเรียนการสอนจึงเน้นการสอนแบบบรรยายเป็นหลัก นอกจากนี้การเรียน การสอนยังฝึกฝนการเป็นผู้นำในกลุ่ม ซึ่งผู้นำจะต้องมีระเบียบ วินัย ควบคุมและรักษาตนเองได้ดี เป็นแบบอย่างที่ดี การจัดตารางสอน การจัดห้องเรียน แผนผังที่นั่งในห้องเรียนครูเป็นผู้กำหนดแต่ผู้เดียว
|
2. ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม (Perennialism)
เป็นปรัชญาการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาพื้นฐานกลุ่มวัตถุนิยมเชิงเหตุผล (Rational realism) หรือบางทีเรียกว่าเป็นพวก
โทมัสนิยมใหม่ (Neo - Thomism) เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตก ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ก่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม มีการเอารัดเอาเปรียบสินค้าราคาสูง เกิดปัญหาครอบครัว ขาดระเบียบวินัย มนุษย์ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ ทำให้วัฒนธรรมเสื่อมสลายลงไป จึงมีการเสนอปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ขึ้นมาเพื่อให้การศึกษาเป็นสิ่งนำพามนุษย์ไปสู่ความมีระเบียบเรียบร้อย มีเหตุและผล มีคุณธรรม และจริยธรรม จึงเป็นที่มาของปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม
ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม มีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ผู้เป็นต้นคิดของปรัชญาลัทธินี้ คือ อริสโตเติล (Aristotle) และเซนต์ โทมัส อะไควนัส (St. Thomas Aquinas) อริสโตเติลได้พัฒนาปรัชญาลัทธินี้ โดยเน้นการใช้ความคิดและเหตุผล จนได้ชื่อว่า Rational humanism ส่วน อะไควนัส ได้นำมาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้า เรื่องศาสนา ซึ่งเชื่อในเรื่องของเหตุและผล แนวคิดนี้มีส่วนสำคัญโดยตรงต่อแนวคิดทางการศึกษาในศตวรรษที่ 20 นักปรัชญาที่เป็นผู้นำของปรัชญานี้ในขณะนั้นคือ โรเบิร์ท เอ็ม ฮัทชินส์ (Robert M. Hutchins) และคณะ ได้รวบรวมหลักการและให้กำเนิดปรัชญานิรันตรนิยมขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1929
2.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยมมีรากฐานมาจากปรัชญา จิตนิยม และปรัชญาวัตถุนิยม ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้แบ่งออกเป็น 2 ทัศนะ คือ ทัศนะแรกเน้นในเรื่องเหตุผลและสติปัญญา อีกทัศนะหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาโดยเฉพาะกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค แต่ทั้ง 2 ทัศนะ เกี่ยวข้องกับเหตุและผล จนได้ชื่อว่าเป็นโลกแห่งเหตุผล ส่วนคำว่า นิรันดร เชื่อว่าความคงทนถาวร ย่อมเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลง การศึกษาควรสอนสิ่งที่เป็นนิรันดร ไม่เปลี่ยนแปลงและจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทุกยุคทุกสมัย ได้แก่ คุณค่าของเหตุผล คุณค่าของศาสนา เป็นการนำเอาแบบอย่างที่ดีของอดีตมาใช้ในปัจจุบัน หรือย้อนกลับไปสู่สิ่งที่ดีงามในอดีต
2.2 แนวความคิดทางการศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้ เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดของธรรมชาติมนุษย์คือ ความสามารถในการใช้เหตุผล จะควบคุมอำนาจฝ่ายต่ำของมนุษย์ได้ เพื่อให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตที่ปรารถนา ดังที่โรเบิร์ต เอ็ม ฮัทชินส์ (Hutchins, 1953 : 68) กล่าวว่า การปรับปรุงมนุษย์หมายถึงการพัฒนาพลังงานเหตุผลศีลธรรมและจิตใจอย่างเต็มที่ มนุษย์ทุกคนล้วนมีพลังเหล่านี้และมนุษย์ควรพัฒนาพลังที่มีอยู่ให้ดีที่สุดการศึกษาในแนวปรัชญาการศึกษานิรันตรนิยม คือ การจัดประสบการณ์ให้ได้มาซึ่งความรู้ ความคิดที่เป็นสัจธรรมมีคุณธรรม และมีเหตุผล
1) จุดมุ่งหมายของการศึกษา ปรัชญาการศึกษาลัทธินี้มีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เพราะมนุษย์มีพลังธรรมชาติอยู่ในตัว พลังในที่นี้คือสติปัญญาจะต้องพัฒนา สติปัญญาของมนุษย์ให้เต็มที่ เมื่อมนุษย์ได้พัฒนาสติปัญญาอย่างดีแล้ว ก็จะทำอะไรอย่างมีเหตุผล การจัดการศึกษาก็ควรจะพัฒนาคุณสมบัติเชิงสติปัญญาและเหตุผลในตัวมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์ดำรง ความเป็นคนดีตลอดไปไม่เปลี่ยนแปลง แต่ไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงของสังคม
2) องค์ประกอบของการศึกษา
- หลักสูตร กำหนดโดยผู้รู้หรือผู้เชี่ยวชาญ เป็นหลักสูตรที่เน้นวิชาทางด้านศิลปศาสตร์ (Liberal arts ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศิลปทางภาษา (Literacy arts) ประกอบด้วย ไวยากรณ์ วาทศิลป์ และตรรกศาสตร์ ซึ่งเป็นเรื่องของการอ่าน การฟัง การพูด การเขียน และการใช้เหตุผล อีกกลุ่มหนึ่งคือ ศิลปการคำนวณ (Mathematical arts) ประกอบด้วย เลขคณิต เรขาคณิต วิทยาศาสตร์ ปรัชญา ดาราศาสตร์ และดนตรี นอกจากนี้ยังให้เรียนรู้ผลงานอันมีค่าของผู้มีอัจฉริยะในอดีต เพื่อคงความรู้อันเป็นนิรันดรเอาไว้ เช่น ผลงานอมตะทางด้านศิลปะ วรรณกรรม ดนตรี รวมทั้งผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ในปัจจุบันได้แก่ หลักสูตรของวิชาพื้นฐานทั่วไป (General education) ในระดับอุดมศึกษา
- ครู ปรัชญานี้มีความเชื่อว่าเด็กเป็นผู้มีเหตุผล และมีชีวิต มีวิญญาณ ครูจะต้องรักษาวินัยทางจิตใจ และเป็นผู้นำทางวิญญาณของนักเรียนทุกคน ครูจะต้องเป็นผู้ใฝ่รู้อยู่เสมอ เข้าใจเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างถูกต้องชัดเจน มีความคิดยาวไกล เป็นผู้ดูแลรักษาระเบียบวินัย ควบคุมความประพฤติของผู้เรียน เป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม
- ผู้เรียน โดยธรรมชาติเป็นผู้มีเหตุผ มีสิต มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปสู่ความมีเหตุผล ถือว่าผู้เรียนมีความสนใจใคร่เรียนรู้อยู่แล้ว ดังที่อริลโตเติลกล่าวไว้ว่า All man by nature desire to know (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2523 : 74) การให้การศึกษาจึงต้องพัฒนาสิ่งที่ ผู้เรียนมีอยู่อย่างเต็มที่ โดยมุ่งพัฒนาเป็นรายบุคคลฝึกฝนคุณสมบัติที่มีอยู่โดยการสอนและการแนะนำของครู ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเรียนเท่าเทียมกันหมด ใช้หลักสูตรเดียวกัน ทั้งเด็กเก่งและเด็กอ่อน ถ้าเด็กอ่อนเข้าใจช้าก็ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ หรือทำซ้ำ ๆ กันเพื่อไปให้ถึงมาตรฐานเดียวกันกับเด็กเก่ง
- โรงเรียน ไม่มีบทบาทต่อสังคมโดยตรง เพราะเน้นที่ตัวบุคคล เป็นหลักใหญ่ เพราะถือว่า ถ้าเกิดการพัฒนาในตัวบุคคลแล้ว ก็สามารถทำให้สังคมนั้นดีขึ้นด้วย
โรงเรียนจึงเป็นเสมือนสื่อกลางในการเตรียมผู้เรียนให้เกิดความก้าวหน้าที่ดีงามที่สุดของวัฒนธรรมที่มีมาแต่อดีต โรงเรียนจะสร้างบรรยากาศและจัดสภาพแวดล้อมให้มีลักษณะสร้างความนิยมในวัฒนธรรมที่มีอยู่ และเคร่งครัดในระเบียบวินัยโดยเน้นการประพฤติปฏิบัติ
กระบวนการเรียนการสอน ใช้วิธีท่องจำเนื้อหาวิชาต่าง ๆ และฝึกให้ใช้ความคิดหาเหตุผลโดยอาศัยหลักวิชาที่เรียนรู้ไว้แล้วเป็นแนวทางพื้นฐานแห่งความคิด เพื่อพัฒนาสติปัญญาหรือเน้นด้านพุทธิศึกษา ที่เรียกว่า Intellectual Education (Wing, 1974 : 148) นอกจากนี้ผู้เรียนจะต้องมีความพร้อมทางด้านจิตใจจึงจะสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ การเรียนการสอนที่กระตุ้นและหนุนให้เกิดศักยภาพดังกล่าว จึงต้องมีการอภิปราย ถกเถียงใช้เหตุผล และสติปัญญาโต้แย้งกัน ครูจะเป็นผู้นำในการอภิปราย ตั้งประเด็นและยั่วยุให้มีการอภิปราย ถกเถียงกัน
ผู้เรียนจะได้พัฒนาสติปัญญาของตนได้อย่างเต็มที่ |
3. ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism)
ปรัชญาที่กำเนินขึ้นเพื่อต่อต้านแนวคิดดั้งเดิมที่การศึกษามักเน้นแต่เนื้อหา สอนให้ท่องจำเพียงอย่างเดียว ทำให้เด็กพัฒนาด้านสติปัญญาอย่างเดียวไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีความกล้าและความมั่นใจในตนเอง ประกอบกับมีความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้เกิดแนวความคิดปรัชญาการศึกษา
พิพัฒนาการนิยมขึ้น
ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยมกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1870 โดย ฟรานซิส ดับเบิลยูปาร์คเกอร์ (Francia W.Parker) ได้เสนอให้มีการปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ เพราะการเรียนแบบเก่าเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย แต่แนวคิดนี้ไม่ได้รับการยอมรับ ต่อมาจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้นำแนวคิดนี้มาทบทวนใหม่ โดยเริ่มงานเขียนชื่อ School of Tomorrow ออกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1915 ต่อมามีผู้สนับสนุนมากขึ้นจึงตั้งเป็น สมาคมการศึกษาแบบพิพัฒนาการ (Kneller, 1971 : 47) และนำแนวคิดไปใช้ในโรงเรียนต่าง ๆ แต่ก็ถูกโจมตีจากฝ่ายปรัชญาการศึกษาสารัตถนิยม ภายหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ปรัชญา การศึกษาสารัตถนิยมกลับมาได้รับความนิยมอีก จนสมาคมการศึกษาพิพัฒนาการนิยมต้องยุบเลิกไป แต่แนวคิดทางการศึกษาปรัชญาพิพัฒนาการนิยมยังคงใช้ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น และแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
3.1 แนวคิดพื้นฐาน ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมมีพื้นฐานมาจากปรัชญาลัทธิประจักษ์วาท (Empirism) ซึ่งเกิดในประเทศอังกฤษในคริสศตรรษที่ 17 ต่อมาได้นำเอาแนวคิดของประจักษ์วาทมาสร้างเป็นปรัชญาลัทธิใหม่ มีชื่อเรียกต่าง ๆ กัน เช่น Experimentalism, pragmatism, Instrumentalism ซึ่งปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ก็มีแนวคิดมาจากปรัชญา
ดังกล่าว
คำว่า พิพัฒน หรือ Progressive หมายถึง ก้าวหน้า เปลี่ยนแปลงไม่หยุดอยู่กับที่ สาระสำคัญของความเป็นจริงและการแสวงหาความรู้ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม บุคคลสามารถแสวงหาความรู้ได้จากประสบการณ์ ประสบการณ์จะนำไปสู่ความรู้และความรู้เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง ปรัชญานี้เน้นกระบวนการโดยเฉพาะกระบวนการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์เมื่อนำมาใช้กับการศึกษา แนวทางของการศึกษา จึงต้องพยายามปรับปรุงให้สอดคล้องกับกาลเวลาและภาวะแวดล้อมอยู่เสมอ การศึกษาจะไม่สอนให้คนยึดมั่นในความจริง ความรู้ และค่านิยมที่คงที่ หรือสิ่งที่กำหนดไว้ตายตัว ต้องหาทางปรับปรุงการศึกษาอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การค้นพบความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ (บรรจง จันทรสา, 2522 : 244) ปรัชญานี้อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรัชญาประสบการณ์นิยม (Experimentalism)
3.2 แนวคิดทางการศึกษา มีแนวคิดว่า การศึกษาคือชีวิต มิใช่เป็นการเตรียมตัวเพื่อชีวิต หมายความว่า การที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขจะต้องอาศัยการเข้าใจความหมายของ ประสบการณ์นิยม ฉะนั้นผู้เรียนจึงควรจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่เหมาะแก่วัยของเขา และสิ่งที่จัดให้ผู้เรียนเรียนควรจะเป็นไปในทางที่ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจปัญหาชีวิตและสังคมในปัจจุบัน และหาทางปรับตัวให้เข้ากับภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบัน (Kneeler, 1971 : 48 - 53)
1) จุดมุ่งหมายของการศึกษา ปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม ไม่มีจุดหมายที่ตายตัว เพราะชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก วัตถุประสงค์ของการศึกษาก็เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนเกิดแนวทางในการแก้ปัญหาแต่ละครั้งและเป็นวิถีทางให้เกิดการเรียนรู้ที่ใหม่กว่าต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนผู้เรียนจะต้องพัฒนาตนเองทั้งในด้าน
ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาควบคู่กันไป เรียนรู้ตามความถนัดและความสนใจสามารถนำความรู้ไปปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข สามารถแก้ปัญหาได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีวินัยในตนเอง
2) องค์ประกอบของการศึกษา
- หลักสูตร ปรัชญานี้ต้องการให้ผู้เรียนเรียนจากประสบการณ์ในชีวิตจริง เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม หลักสูตรจึงครอบคลุมชีวิตประจำวันทุกรูปแบบ ที่ก่อให้เกิด การเรียนรู้ ให้ผู้เรียนได้เข้าร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้ทุกรูปแบบ หลักสูตรจะเน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ทางสังคม ตลอดจนชีวิตประจำวัน เนื้อหา ได้แก่ สังคมศึกษา วิชาทางภาษา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่ความสำคัญของการศึกษา พิจารณาในแง่ของวิธีการที่นำมาใช้ คือ กระบวนการ แก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสามารถในการแก้ปัญหาในบทเรียน และนำเอากระบวนการแก้ปัญหาไปใช้ในชีวิตประจำวัน
- ครู ไม่ใช่เป็นผู้ออกคำสั่งแต่ทำหน้าที่ในการแนะแนวทางให้แก่
ผู้เรียนแล้วจัดประสบการณ์ที่ดีและเหมาะสมให้แก่ผู้เรียน ครูจะต้องมีความรู้และมีประสบการณ์อย่างกว้างขวาง รู้จักผู้เรียนเป็นอย่างดีและยอมรับในความแตกต่างระหว่างบุคคล แล้ววางแผนให้เกิดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความสามารถและความต้องการของผู้เรียน จัดสภาพภายในโรงเรียนและในห้องเรียนให้พร้อมที่จะศึกษาเล่าเรียนให้ได้ประสบการณ์ตามที่ต้องการ
- ผู้เรียน ปรัชญานี้ให้ความสำคัญแก่ผู้เรียน ถือว่าผู้เรียนโดยธรรมชาติมีอินทรีย์ที่จะสืบเสาะแสวงหาประสบการณ์และพร้อมที่จะรับประสบการณ์ (เมธี ปิลันธนานนท์, 2523 : 90) ผู้เรียนจะได้รับประสบการณ์ก็ด้วยการลงมือกระทำด้วยตนเอง (Learning by doing)
ผู้เรียนจะต้องมีอิสระในการเลือกตัดสินใจ และต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้การเรียนการสอนตรงกับความถนัดความสนใจและความสามารถของผู้เรียน
- โรงเรียน ทำหน้าที่เป็นแบบจำลองของสังคมโดยเฉพาะแบบจำลองที่ดีงามของชีวิตและประสบการณ์ในสังคม โดยจัดประสบการณ์ให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียนในแต่ละกลุ่ม เริ่มจากการเรียนรู้พื้นฐานของสังคม ลักษณะอื่น ๆ ของสังคม โรงเรียนต้องสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยโดยให้ผู้เรียนได้มีการเรียนรู้สิ่งแปลก ๆ ใหม่ ๆ มีความพร้อม มีความรู้จัก และเข้าใจสังคมอย่างดี พอที่จะออกไปปรับปรุงและพัฒนาสังคมได้ (ศักดา ปรางค์ประทานพร, 2523 : 64 65)
- กระบวนการเรียนการสอน เป็นการสอนที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Chield centered) โดยให้ผู้เรียนมีบทบาทมากที่สุด การเรียนเป็นเรื่องการกระทำ (Doing) มากกว่ารู้ (Knowing) การเรียนการสอนจึงต้องให้ผู้เรียนลงมือกระทำเพื่อให้เกิดประสบการณ์และการเรียนรู้การกระทำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ ครูต้องจัดประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนการสอนใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ (Problemsolving)
|
4. ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism)
ในปี ค.ศ. 1930 ได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกาเกิดปัญหาการว่างงาน คนไม่รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคม จึงมีนักคิดกลุ่มหนึ่งได้พยายามจะแก้ปัญหาสังคมโดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม ผู้นำของนักคิดกลุ่มนี้ ได้แก่ จอร์จ เอส เค้าทส์ (George S. Counts) ซึ่งมีความเห็นด้วยกับหลักการประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และเห็นว่าโรงเรียนควรมีหน้าที่แก้ปัญหาเฉพาะอย่างของสังคม
ผู้ที่วางรากฐานและตั้งทฤษฎีปฏิรูปนิยม ได้แก่ ธีโอดอร์ บราเมลด์ (Theodore Brameld) ในปี ค.ศ. 1950 โดยเสนอปรัชญาการศึกษาเพื่อการปฏิรูปสังคม และได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือหลายเล่ม ธีโอดอร์ บราเมลด์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม
4.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีแนวคิดที่พัฒนามาจากปรัชญาพิพัฒนาการนิยม หรือ ปฏิบัตินิยม ซึ่งมีความเชื่อว่า ความรู้ความจริงเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ความรู้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา ปรัชญาพิพัฒนาการนิยมเน้นความสำคัญของการพัฒนาผู้เรียน ส่วนปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมมีแนวความคิดว่า ผู้เรียนมิใช่เรียนเพื่อมุ่งพัฒนาตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนเพื่อนำความรู้ไปพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง
คำว่า ปฏิรูป หรือ Reconstruct หมายถึง บูรณะ การสร้างขึ้นมาใหม่ หรือทำขึ้นใหม่เน้นการสร้างสังคมใหม่ เพราะว่าสังคมขณะนั้นมีปัญหาต่าง ๆ มากมาย ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง การศึกษาจึงมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือสร้างสังคมและวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นมาใหม่ เป็นสังคมในอุดมคติ ที่มีความดีเพียบพร้อม และจะต้องทำอย่างรีบด่วน
4.2 แนวคิดทางการศึกษา เนื่องจากการศึกษามีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างแยกไม่ออก การศึกษาจึงควรนำสังคมไปสู่สภาพที่ดีที่สุด การศึกษาต้องทำให้ผู้เรียนเข้าใจ และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมอุดมคติขึ้นมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมและภาวะทางเศรษฐกิจของโลกยุคใหม่
1) จุดมุ่งหมายของการศึกษา การศึกษาจะต้องมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์ระบบสังคมขึ้นมาใหม่จากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ และสังคมใหม่ที่สร้างขึ้นนั้นจะต้องอยู่บนรากฐานของประชาธิปไตยการศึกษาจะต้องส่งเสริมการพัฒนาสังคมให้ผู้เรียนนำความรู้ไปพัฒนาสังคมโดยตรง
2) องค์ประกอบของการศึกษา
- หลักสูตร เนื้อหาวิชาที่นำมาบรรจุไว้ในหลักสูตร จะเกี่ยวกับปัญหาและสภาพของสังคมเป็นส่วนใหญ่ จะเน้นวิชาสังคมศึกษา เช่นกระบวนการทางสังคม การดำรงชีวิตในสังคม สภาพเศรษฐกิจและการเมือง วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ศิลปะในชีวิตประจำวัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้มีความเข้าใจในกลไกของสังคม และสามารถหาแนวทางในการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่
- ครู ทำหน้าที่รวบรวม สรุป วิเคราะห์ปัญหาของสังคมแล้วเสนอ แนวทางให้ผู้เรียนแก้ปัญหาของสังคม ครูจะต้องทำให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในการคิดพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ และเห็นความจำเป็นที่จะต้องสร้างสรรค์ค์สังคมขึ้นมาใหม่ และเชื่อมั่นว่าจะกระทำได้ด้วยวิถีทางแห่งประชาธิปไตย
- ผู้เรียน ปรัชญานี้เชื่อว่า ผู้เรียนคือผู้ที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาสังคม และมีความยุติธรรม ดังนั้น ผู้เรียนจะได้รับการปลูกฝังให้ตระหนักในปัญหาสังคมเรียนรู้วิธีการทำงานร่วมกันเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม ผู้เรียนจะได้รับการเรียนรู้เทคนิควิธีการต่าง ๆ ที่จะนำมาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาสังคม แล้วให้ผู้เรียนหาข้อสรุป และ
ตัดสินใจเลือก (Kneller, 1971 : 36)
- โรงเรียน ตามปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยมโรงเรียนจะมีบทบาทต่อสังคมโดยตรง โดยมีส่วนในการรับรู้ปัญหาของสังคม ร่วมกันแก้ปัญหาของสังคม รวมทั้งสร้างสังคมใหม่ที่เหมาะสม ดีงาม โรงเรียนจะต้องใฝ่หาว่า อนาคตสังคมควรเป็นเช่นไร แล้วนำทางให้ผู้เรียนไปพบกับสังคมใหม่ โดยให้การศึกษาแก่ผู้เรียนเพื่อพร้อมที่จะวางแผนให้กับสังคมใหม่ และโรงเรียนจะต้องมีบรรยากาศในการเป็นประชาธิปไตย ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ และเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด วางแผน และดำเนินการตามเป้าหมายของโรงเรียน คือ โรงเรียนชุมชน (Community school)
- กระบวนการเรียนการสอน มีลักษณะคล้ายกับปรัชญาการศึกษาพิพัฒนาการนิยม คือ ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเอง และลงมือกระทำเอง สามารถมองเห็นปัญหาและเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยใช้วิธีการต่าง ๆ หลายวิธี เช่น วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) วิธีวางโครงการ (Project method) และวิธีแก้ปัญหาเป็นเครื่องมือ
|
5. ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)
ปรัชญานี้เกิดขึ้น เนื่องจากความรู้สึกที่ว่ามนุษย์กำลังสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองการศึกษาที่มีอยู่ก็มีส่วนในการทำลายความเป็นมนุษย์เพราะสอนให้ผู้เรียนอยู่ในกรอบของสังคมที่จำกัดเสรีภาพความเป็นตัวของตัวเองให้
ลดน้อยลงนอกจากนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังมีส่วนในการทำลายความเป็นมนุษย์เพราะต้องพึ่งพากันมากเกินไปนั่นเอง
ผู้ให้กำเนิดแนวคิดใหม่ทางปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม ได้แก่ ซอเร็นคีร์เคอร์การ์ด (Soren Kiekergard) นักปรัชญาชาวเดนมาร์ค ได้เสนอความคิดว่า ปรัชญาเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้น ทุกคนจึงควรสร้างปรัชญาของตนเองจากประสบการณ์ ไม่มีความจริงนิรันดรให้ยึดเหยี่ยวเป็นสรณะตายตัว ความจริงที่แท้คือสภาพของมนุษย์ (กีรติ บุญเจือ, 2522 : 14) แนวคิดของคีร์เคอร์การ์ด มีผู้สนับสนุนอีกหลายคน ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยในช่วงปี ค.ศ. 1950 1965 แต่ความพยายามที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาก็เป็นเวลาราว 10 ปีต่อมา และผู้ริเริ่มนำมาใช้ทดลองในโรงเรียน คือ เอ เอสนีลล์ (A.S. Neil) โดยทดลองในโรงเรียนสาธิตและโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer hill) ในประเทศอังกฤษ
5.1 แนวความคิดพื้นฐาน ปรัชญานี้มีความสนใจและความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่จริงของมนุษย์ มนุษย์จะต้องเข้าใจและรู้จักตนเอง มนุษย์ทุกคนมีความสำคัญและมีลักษณะเด่นเฉพาะของตนเอง ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเลือกตัดสินใจในการกระทำสิ่งใด ๆ แต่จะต้องรับผิดชอบต่อการประทำนั้น ปรัชญาอัตถิภาวนิยมนี้ยกย่องมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด ส่งเสริมให้มนุษย์มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็ต้องไม่มองข้ามเสรีภาพของผู้อื่น หมายถึง จะต้องเป็นผู้ใช้เสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
5.2 แนวความคิดทางการศึกษา คำว่า อัตถิภาวะ ตามสารานุกรมปรัชญา อธิบายว่า มาจากคำว่ อัตถิ = เป็นอยู่ + ภาวะ = สภาพ (กีรติ บุญเจือ, 2522 : 280) เมื่อรวมกันแล้วแปลว่า สภาพที่เป็นอยู่ ดังนั้น การศึกษาตามปรัชญาอัตถิภาวนิยมจึงส่งเสริมให้มนุษย์แต่ละคนรู้จักพิจารณาตัดสินสภาพและเจตจำนงที่มีความหมายต่อการดำรงชีวิต การศึกษาจะต้องให้อิสระแก่
ผู้เรียนที่จะเลือกสรรสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเสรี มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
1) จุดมุ่งหมายของการศึกษา การศึกษาจะต้องทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจตนเอง ว่ามีความต้องการอย่างไร แล้วพัฒนาตนเองไปตามความต้องการอย่างอิสระเสรี เพื่อจะได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนเองได้อย่างเต็มที่ด้วยการเลือกเรียนได้ตามความพอใจและมีความ
รับผิดชอบในสิ่งที่เลือก นอกจากนี้ยังมุ่งให้ผู้เรียนเป็นผู้มีวินัยในตนเอง
2) องค์ประกอบของการศึกษา
- หลักสูตร ไม่กำหนดตายตัว แต่ต้องเป็นหลักสูตรที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น เนื้อหาของหลักสูตรจะเน้นทางสาขามนุษยศาสตร์ เช่น ศิลป ปรัชญา วรรณคดี ประวัติศาสตร์ การเขียน การละคร จิตรกรรม และศิลปะประดิษฐ์ นักปรัชญาเชื่อว่าวิชาเหล่านั้นจะฝึกฝนผู้เรียนทางด้านสุนทรียศาสตร์ อารมณ์ และศีลธรรม จริยธรรมอันดีงามวิชาต่าง ๆ ไม่ได้จัดให้เรียนตายตัว แต่จะให้ผู้เรียนเลือกตามความพอใจ และความเหมาะสมเพื่อผู้เรียนจะได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง
- ครู มีบทบาทคล้ายกับปรัชญาพิพัฒนาการนิยม ทำหน้าที่คอยกระตุ้นหรือเร้าให้ผู้เรียนตื่นตัว ให้เข้าใจตนเอง สามารถใช้ความถนัดและความสามารถเฉพาะตัวออกมาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ครูจะให้ความสำคัญแก่ผู้เรียนมาก ให้เสรีภาพ และเคารพในศักดิ์ศรีของผู้เรียน ให้ผู้เรียนรู้จักรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง และครูจะต้องเป็นผู้รู้จริงในเรื่องที่สอน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อผู้เรียน
- ผู้เรียน ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่สำคัญที่สุดในกระบวนการศึกษา และเชื่อว่าผู้เรียนเป็นผู้ที่มีความคิด มีความสามารถในตนเอง มีเสรีภาพอย่างแท้จริง เป็นผู้เลือกแนวทางที่จะพัฒนาตนเองด้วยตนเอง เพราะเป้าหมายการศึกษามิใช่เนื้อความรู้ มิใช่เพื่อสังคมแต่เพื่อ
ผู้เรียนที่จะรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง ด้วยเหตุนี้แนวทางจริยธรรม และการประพฤติปฏิบัติต่าง ๆ เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะเลือกใช้วิธีทางใด แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องมีวินัยในตนเอง และรับผิดชอบต่อการกระทำและผลที่จะเกิดขึ้น (Power 1982 : 145)
- โรงเรียน ต้องสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพทั้งในและนอกห้องเรียน และจัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนเกิดความพอใจที่จะเรียน สร้างคนให้เป็นตัวของตัวเอง คือ ให้นักเรียนมีโอกาสเลือกอย่างอิสระ ส่วนแนวทางในด้านจริยธรรม ทางโรงเรียนจะไม่กำหนดตายตัวแต่จะให้ผู้เรียนได้เลือกแนวทางของตัวเอง
- กระบวนการเรียนการสอน เน้นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ให้ผู้เรียนพบความจริงด้วยตนเอง เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนด้วยตัวของตัวเอง การเรียนจะต้องเรียนรู้จากสิ่งภายในก่อน หมายถึงจะต้องให้ผู้เรียนรู้ว่าตนเองพอใจอะไร มีความต้องการอะไรอย่างแท้จริง แล้วเลือกเรียนในสิ่งที่พอใจหรือต้องการ กระบวนการเรียนการสอนจะเน้นการมีส่วนร่วม เป็นหลักสำคัญในการเรียนรู้
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาที่ท้าทายแนวความคิดของคนรุ่นใหม่ และแพร่หลายไปยังประเทศต่าง ๆ ในประเทศไทยได้มีการนำมาทดลองใช้เป็นครั้งแรกที่โรงเรียนในหมู่บ้านเด็ก จังหวัดกาญจนบุรี เป็นความพยายามที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้มีอิสระเสรีภาพในการเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ปัจจุบันโรงเรียนนี้ยังดำเนินการสอนอยู่แต่ก็ปรับเปลี่ยน
รูปแบบให้เหมาะสม และนับได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง |
|