เลือกหน่วยการเรียน
       นักการศึกษาไทยหลายท่านที่ได้ไปศึกษายังต่างประเทศ ก็สามารถนำเอาแนวคิดของ      ชาวตะวันตกมาปรับปรุงใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย หรือพิจารณาเอาบางส่วนมาผสมผสานกับ     วัฒนธรรมของไทยได้อย่างกลมกลืน  ส่วนที่ตามอย่างตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาจนเกินไปจนมองข้ามสภาพที่เป็นสังคมไทยไปก็มี  แนวคิดที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาไทย ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลก ครั้งที่  2  จนถึงสมัยปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้

1) แนวความคิดของนักการศึกษาไทย

            นักการศึกษาไทยหลายท่านได้มีโอกาสไปศึกษาต่อต่างประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2  ทำให้ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก  และได้นำมาเผยแพร่ในประเทศ ซึ่งแนวคิดหลายประการก็นับว่าได้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าทัดเทียมประเทศทางตะวันตก  ซึ่งประเทศเหล่านั้นมีความเจริญล้ำหน้าประเทศไทยไปมาก จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงการศึกษาของเราให้เหมาะสม  และยังคงรักษาเอกลักษณ์  ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเอาไว้ได้ นักการศึกษาไทยที่มีบทบาทในการนำแนวคิดทางการศึกษามาสู่ประเทศไทยในระยะนั้นมี ดังนี้ (คลิกอ่านรายละเอียด คลิกอีกครั้งซ่อน)

             ดร. สาโรช บัวศรี

       ดร.สาโรช  บัวศรี เป็นผู้ก่อตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรเมื่อปี พ.ศ. 2497  เพื่อผลิตครูในระดับปริญญาตรี  จบการศึกษาปริญญาเอกจากสหรัฐอเมริกา  ในระยะที่แนวคิดทางปรัชญาปฏิบัตินิยม  (Pragmatism)  กำลังแพร่หลาย  ซึ่งในขณะนั้น จอห์น  ดิวอี้  (John  Dewey)  ยังมีชีวิตอยู่และเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาแบบพิพัฒนาการ  (Progressive  Education)  ขึ้น  โดยได้รับอิทธิพลจากปรัชญาปฏิบัตินิยม  การศึกษาตามแนวพิพัฒนาการนิยม เป็นการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน  ให้ผู้เรียนได้ลงมือกระทำด้วยตนเอง  ดิวอี้ได้ใช้วิธีสอนแบบแก้ปัญหาผู้เรียนจะต้องค้นคว้าเนื้อหาวิชาด้วยตนเอง แล้วนำเอากระบวนการของการแก้ปัญหาในบทเรียนไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

       ดร.สาโรช  บัวศรี  ได้นำแนวคิดทางการศึกษาแบบพิพัฒนาการมาใช้ในประเทศไทย ทำให้การเรียนการสอนในสถาบันที่ผลิตครูสอนตามแบบใหม่ เพราะเห็นว่าการสอนแบบเดิม คือให้ท่องจำพัฒนาเพียงสติปัญญาอย่างเดียวคงจะไม่พอสำหรับสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่าง
รวดเร็ว  ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ  สังคม และการเมือง  ในแนวคิดของการศึกษาแผนใหม่ที่เรียนด้วยการแก้ปัญหา  ดร.สาโรช  บัวศรี  ได้นำมาดัดแปลงให้เข้ากับหลักธรรมใน ศาสนาพุทธ  เช่น วิธีการแก้ปัญหาแบบพิพัฒนาการนิยม  เปรียบเทียบได้กับอริยสัจ 4 สามารถนำมาใช้สอนได้เป็นวิธีสอนตามขั้นทั้ง  4  ของอริยสัจ
ถ้าพิจารณาอริยสัจ  4  แล้ว  จะพบว่ามีขั้นตอนเช่นเดียวกับกระบวนการแก้ปัญหา  ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ดังตารางต่อไปนี้

          ตารางที่  1 
เปรียบเทียบขั้นตอนของอริยสัจ  และกระบวนการแก้ปัญหา      

ขั้นตอนทั้ง  4  ของอริยสัจ

กระบวนการแก้ปัญหา

    1. ทุกข์
    2. สมุทัย
    3. นิโรธ
    4. มรรค
    1. ปัญหา  (Problem)
    2. สมมุติฐาน  (Hypothesis)
    3. ทดลอง  (Experimental)
    4. สรุปผล (Conclusion)

         นอกจากนี้  ดร.สาโรช  บัวศรี  ยังได้เสนอแนวคิดในการนำเอาหลักธรรมทางศาสนาพุทธมาวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการสมัยใหม่  เช่น  พุทธปรัชญาการศึกษา ศึกษาศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์  ฯลฯ  วิชาการต่าง ๆ เหล่านี้มีอยู่ในหลักธรรมทางศาสนาพุทธ  84,000  พระธรรมขันธ์  ประเทศไทยควรจะได้พัฒนาวิชาการต่าง ๆ ให้มีแนวทางเป็นของเราเองแทนที่จะรับเอาวิชาการจากต่างประเทศ  ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดการหลงผิด  หรือเป็นการตามอย่างมากเกินไป  ไม่เหมาะกับสังคมไทย


             จำนง ทองประเสริฐ (2520 : 22 – 25)

          จำนง  ทองประเสริฐ ได้เสนอแนวคิดปรัชญาการศึกษาไทยว่า เราศึกษาแนวคิดทางปรัชญาตะวันตกและเป็นผิวเผินไม่ลึกซึ้งนัก  เลยทำให้คิดว่าปรัชญาของตะวันตกดีเลิศ  และดีกว่าปรัชญาทางตะวันตก  ซึ่งควรจะหันมาสนใจปรัชญาตะวันออกให้มากขึ้น  ได้แก่  ปรัชญาทางพระพุทธศาสนา  ปรัชญาเต๋า  ขงจื้อ และปรัชญาศาสนาพราหมณ์  เพราะโลกตะวันตกที่เจริญทางด้านวัตถุ  กำลังเกิดความเสื่อมทางจิตใจ  ขณะที่ทางตะวันตกได้หันมาสนใจทางด้านจิตใจแบบทางตะวันออกมากยิ่งขึ้น


            
เอกวิทย์ ณ ถลาง (2526 : 195 - 197)

      เอกวิทย์  ณ  ถลาง  ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา ไว้ว่า 
การศึกษาเพื่อการพัฒนาชีวิตของผู้คนและบ้านเมืองนั้น  สามารถช่วยให้คนมีความสุขได้หรือไม่  ความสุขคืออะไร  หรืออะไรทำให้คนมีความสุข  ถ้าความสุขเกิดจากการดิ้นรน  แสวงหาให้ได้
ทุกอย่าง  ความสุขคือการมีอำนาจ  ถ้าความสุขคือ  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  ความสุขคือการได้เปรียบในสังคม  ความสุขเช่นนั้นกล่าวอย่างชาวพุทธก็หาใช่ความสุขที่ยั่งยืนแท้จริงไม่  โดยเนื้อแท้เป็นความทุกข์ที่เป็นกับดักอยู่ข้างหน้าอย่างชัดเจน  ดังนั้นการศึกษาที่ดีจะต้องตั้งคำถามได้ว่าความสุขที่ปรารถนานั้นคืออะไร  แนวทางที่จะได้ความสุขนั้นคืออย่างไร  ในฐานะที่เราเป็นทายาททางปัญญาของธรรมะที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้ถ่องแท้แล้วว่าชีวิตเป็นอย่างไร อะไรคือ
ความทุกข์ อะไรคือสุข อะไรคือความสงบ คงไม่เป็นการเกินเลยที่จะนำหลักพุทธธรรมมาวิเคราะห์ปัญหาของเราในอดีตและปัจจุบัน  และเตรียมการเพื่ออนาคต  โดยพิจารณาให้ความสำคัญประเด็นที่ว่า การศึกษาที่ดี คือ การศึกษาที่ทำให้คนมีความสงบสุขอย่างแท้จริง คือ

  1. ความสุขจากความเป็นอิสระหลุดพ้นจากความหิวโหย ความไม่รู้ ความยากไร้ในลักษณะต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัย  4
  2. ความสุขที่ไม่เป็นการแสวงหาการพอกพูนทางวัตถุ  ลาภ  ยศ  สรรเสริญ  สุขจนเกินไป
  3. ความสุขที่ตั้งอยู่บนความพอดี
  4. ความสุขที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติอย่างคนที่มีคุณธรรม
  5. ความสุขของคนที่เข้าใจความจริงของชีวิต  ตามระดับวุฒิภาวะที่ตนพึงจะเข้าใจได้
  6. ความสุขของคนที่สามารถนับถือตนเอง  และดำรงเกียรติภูมิของตนเองได้  สามารถยกย่องให้เกียรติผู้อื่น ในฐานะเพื่อนร่วมชาติ  เพื่อนมนุษย์ร่วมโลกได้ด้วยจิตใจที่เที่ยงธรรม
      ความสุขจากการที่ได้ทำจิตใจให้ผ่องใสสุขสงบขึ้นทุกขณะเตือนสติ  มิให้ประมาท ส่งเสริมชีวิตที่ดีร่วมกัน

           2)  แนวความคิดของนักการศึกษาชาวตะวันตก
                 แนวความคิดของนักการศึกษาชาวตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาไทย คือจอห์น  ดิวอี้  ซึ่ง ดร.สาโรช  บัวศรี เป็นผู้หนึ่งที่ได้เสนอแนวคิดทางด้านปรัชญาการศึกษา พิพัฒนาการนิยม และยังมีอิทธิพลต่อการศึกษาของไทยมาจนถึงทุกวันนี้  แต่ก็ยังมีแนวคิดของนักการศึกษาชาว
ตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาไทยในระยะหลังอีกหลายแนวคิด  ซึ่งการศึกษาไทยในปัจจุบันได้นำมาวิเคราะห์และใช้เป็นแนวทางในการจัดการศึกษาไทย ดังต่อไปนี้

             2.1 โรงเรียนตามสบาย (Freeschooling)

        โรงเรียนตามสบายหรือโรงเรียนเสรี เป็นโรงเรียนที่  เอ. เอส. นีล (A.S.Nell)  ได้ทดลองจัดขึ้นตามปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)  ในปี ค.ศ. 1924  ที่โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์  (Summer  Hill)  ในประเทศอังกฤษซึ่งแนวคิดใหม่นี้ให้อิสระและเสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่  โดยการจัดโรงเรียนให้เหมาะสมกับเด็กไม่ใช่สร้างเด็กให้เหมาะกับโรงเรียน  ตามแนวคิดเก่า ๆ แนวคิดใหม่จะต้องจัดโรงเรียนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเด็กหรือผู้เรียน  ส่งเสริมให้นักเรียนได้เติบโตในทิศทางที่เขาเป็นผู้เลือก และจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก

         นีลเป็นชาวสก๊อต มีอาชีพเป็นครู เขาสนใจในจิตวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎี                จิตวิเคราะห์ของซิกมันต์  ฟรอยด์ (Sigmund  Freud)  เขาเชื่อว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะช่วยแก้ปัญหาเด็กเกเรได้  และเชื่อว่าเด็กที่เกเรเป็นเพราะเขาไม่มีความสุข  ถ้าเด็กมีความสุขเด็กจะไม่เกเร  เด็กจะไม่มีนิสัยเลวมาแต่กำเนิด  การที่เด็กมีความสุขก็ด้วยการทำในสิ่งที่ตนเองพอใจ  ไม่ใช่ถูกบังคับเขาเห็นด้วยกับแนวความคิดของปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม  โรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์หรือโรงเรียตามสบายจะให้อิสระและเสรีภาพกับผู้เรียนอย่างเต็มที่  โดยจัดโรงเรียนให้เหมาะสมกับธรรมชาติของเด็ก  ส่งเสริมให้เด็กได้เติบโตไปในทิศทางที่เขาถนัดและพอใจมากที่สุด
โรงเรียนตามสบายมีแนวคิดพื้นฐานว่ามนุษย์ควรจะมีเสรีภาพมีความรู้สึกและอารมณ์เป็นของตนเองการเรียนหนังสือจะเกิดผลดี และเกิดผลเต็มที่เมื่อเด็กเกิดความอยากเรียนและพร้อมที่จะเรียน สามารถตัดสินใจได้เองว่าจะเรียนอะไร  ความรู้จึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่จากการถูกบังคับให้เรียน แต่เด็กจะต้องได้รับการสนับสนุนให้ค้นพบตัวเอง ให้รู้จักตัวเองดีพอเพื่อพัฒนาตัวเองไปตามแนวทางที่ตนเองปรารถนาโรงเรียนตามสบายได้ปรับปรุงโครงสร้างโดยจัดระบบหลักสูตรใหม่จัดระบบการเรียนการสอนใหม่  ตลอดจนระบบการบริหารก็เป็นแนวใหม่  ดังนี้

  1. การเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ ควรจัดตามความสนใจของแต่ละคน
  2. เด็กมีอิสระที่จะเลือกทำอะไรก็ได้ในโรงเรียนตามที่เขาสนใจพอใจจะเรียนก็เรียน หรือพอใจจะเล่นก็ไปเล่นได้ หรือไปทำกิจกรรมอย่างอื่น
  3. ในโรงเรียนมีแต่ตารางสอน ไม่มีตารางเรียน  ถ้าเด็กต้องการเรียนก็จะมาเรียนได้  ถ้าไม่ต้องการเรียนก็สามารถไปเล่นหรือไปทำกิจกรรมอื่น  แต่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง
  4. การเลือกปฏิบัติต่อกันเด็กจะไม่ยึดหลักของใคร จะตกลงกันเองว่าจะเลือกปฏิบัติต่อกันอย่างไร
  5. เด็กจะปกครองกันเอง  ในโรงเรียนจะมีคณะกรรมการ  ประกอบด้วยครู และนักเรียนมีสิทธิเท่า ๆ กัน การลงโทษเป็นข้อตกลงของคณะกรรมการ  ส่วนใหญ่จะเป็นโทษปรับหรือทำงาน หรือกักบริเวณ
  6. เปิดโอกาสให้เด็กได้มีส่วนร่วมได้ตัดสินใจในการดำเนินการของ
    โรงเรียนอย่างแท้จริง ให้เด็กรู้สึกว่ามีส่วนเป็นเจ้าของโรงเรียนด้วย

       แนวคิดของโรงเรียนตามสบายหรือซัมเมอร์ฮิลล์ เอ  เอส  นีล  มีลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ และถูกต้องตามหลักจิตวิทยาสมัยใหม่  แต่สังคมทั่วไปและผู้ปกครองยังไม่ค่อยเข้าใจ  และมักจะคิดว่าเป็นการตามใจเด็กมากเกินไป จึงยังไม่จัดกันมากนักในสมัยนั้น
ประเทศไทยได้นำเอาแนวคิดมาจัดการศึกษา  ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก  ตำบลท่าเสา  อำเภอไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี  โดยได้รับความช่วยเหลือจากมูลนิธิในประเทศเยอรมันและประเทศฝรั่งเศส
โรงเรียนหมู่บ้านเด็กก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2522  เริ่มรับนักเรียนเข้าเรียนในปี      พ.ศ. 2523  เด็กที่เรียนมีอายุหลากหลายตั้งแต่  3  ปีครึ่ง ถึง  14  ปี  เป็นเด็กกำพร้า จากชุมชนแออัดในกรุงเทพ ฯ  เพราะคนในพื้นที่ยังไม่ยอมส่งลูกมาเรียน  ทางโรงเรียนได้จัดสิ่งแวดล้อมภายใน
โรงเรียน  ให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาของเด็ก  โดยให้เด็กได้ปรับอารมณ์ที่มาจากพื้นฐานครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ให้เข้าสู่สภาวะปกติสามารถสื่อสัมพันธ์กับคนในสังคมได้สร้างบรรยากาศในโรงเรียนให้มีความเป็นอิสระและเสรีภาพ  ให้นักเรียนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า  สามารถเลือกทำในสิ่งที่ตน
พอใจ  แต่จะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เลือก         ปัจจุบันโรงเรียนในประเทศไทยก็เน้นการให้อิสรเสรีภาพในการเรียนมากขึ้นแม้จะไม่ใช่แนวคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยมเต็มรูปแบบแต่ก็ยอมรับว่า
การศึกษาที่ดีควรจะให้ความสำคัญต่อความรู้สึกและความสนใจของเด็กและนับวันควรจะให้ความสนใจมากขึ้น


             2.2 การเลิกระบบโรงเรียน

        แนวคิดในการเลิกระบบโรงเรียน  เป็นแนวคิดของ
อิวาน  อิลลิช   (Ivan  lllich)  นักการศึกษาเชื้อสายปอร์โตริโก เป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านภาษา
ต่างประเทศถึง  12  ภาษา  ได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เขาได้เสนอทางเลือกใหม่  โดยการจัดระบบการศึกษาเสียใหม่  โดยเลิกระบบโรงเรียนเสีย  แล้วจัดรูปแบบการศึกษาเสียใหม่ให้เหมาะสม  ซึ่งเขาเชื่อว่าการศึกษาจะมีวิธีการถ่ายทอดหลายวิธี  ปัญหาของการศึกษาในขณะนั้นมี  ดังนี้

  1. ระบบโรงเรียน  ทำให้โรงเรียนกลายเป็นสถานที่ผูกขาดทางการศึกษา โรงเรียนกลายเป็นสถานที่แบ่งแยกความรวยและความจน  คนรวยมีโอกาสได้รับการศึกษาสูงและได้รับการยกย่อง ส่วนคนจนไม่ได้รับการศึกษาหรือได้รับการศึกษาน้อยจะถูกกดให้ต่ำลง
  2. ระบบโรงเรียนทำให้การเรียนการสอนน่าเบื่อหน่าย  เพระเน้นทฤษฎีมากเกินไป  ลักษณะการเรียนเรียนทั้งวัน  วันละหลายชั่วโมง เรียนตลอดปี การจัดการเรียนการสอน
    ก็ตายตัววัดความสามารถจากหลักสูตรเท่านั้น
  3. ระบบโรงเรียนทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก  และไม่คุ้มค่า เพราะผู้เรียนอาจเรียนจากแหล่งวิชาอื่น ๆ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายน้อย และอาจได้ประโยชน์มากกว่า
  4. ระบบโรงเรียนทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในตนเอง  เพราะต้องทำตามระเบียบกฎเกณฑ์ที่โรงเรียนกำหนดให้ทุกอย่างขาดอิสรภาพที่จะคิดอะไรได้เอง
  5. ระบบโรงเรียนจะสอนให้ทุกคนรู้ว่า  ความรู้จากโรงเรียนเท่านั้นที่สำคัญที่สุด  ประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรเท่านั้นที่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน แต่ก็อาจจะศึกษาได้จากแหล่งอื่น และมีความรู้มากกว่า

    ปัญหาดังกล่าวทำให้ อีวาน  อิลลิส และเอฟเวอเรต ไรเมอร์ (Evereft  Reimar)  ได้ให้แนวคิดว่า  ควรจะเลิกระบบโรงเรียนเสีย  แล้วหาทางเลือกระบบการศึกษาขึ้นใหม่  ซึ่งระบบการศึกษาใหม่ ควรมีจุดมุ่งหมายดังนี้

  1. ให้ผู้เรียนได้เรียนทุกเมื่อตามที่ต้องการไม่ว่าเมื่อใด  ระยะใดของชีวิต
  2. ต้องให้สิ่งที่จะต้องศึกษาเป็นเรื่องเดียวกับชีวิต  ซึ่งแต่เดิมโรงเรียนมักจะแยกการศึกษากับชีวิตจริงออกจากกัน  สิ่งที่เรียนไม่ใช่สิ่งที่จะต้องพบในชีวิตประจำวัน จะต้องให้เด็กเลือกเรียนในสิ่งที่เด็กเห็นว่าสำคัญต่อชีวิตของเขา  ต้องเรียนรู้จากของจริง  และหาเรียนได้จากที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ในโรงเรียน
  3. จะต้องไม่ผูกขาดทางการศึกษาด้วยการให้อิสระแก่ผู้เรียนทุกคนควรมีสิทธิได้รับการศึกษา และเลือกศึกษาในสิ่งที่ตนสนใจ  พอใจ และมีคุณค่าต่อตนเอง 

   จุดมุ่งหมายดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดว่า  โรงเรียนไม่ควรมีอีกต่อไป  แต่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานเพื่อการศึกษา 4 ลักษณะด้วยกัน คือ

  1. สร้างสถานที่ไว้อ้างอิงทางการศึกษา  ซึ่งรวมทั้งการสร้างห้องสมุดจำนวนมาก  สร้างหน่วยงานที่จะให้ยืมอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์  พิพิธภัณฑ์  หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชน  โรงเรียนอุตสาหกรรม  ถ้าไม่มีในที่นั้นก็ต้องมีรายชื่อสำหรับไปค้นหาได้  ซึ่งควรจะเก็บรายชื่อไว้ในคอมพิวเตอร์
  2. ตั้งหน่วยงานสำหรับการแลกเปลี่ยนทักษะ  ซึ่งจะเป็นสถานที่สำหรับเก็บรายชื่อของบุคคลที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ รวมถึงที่อยู่และเงื่อนไขต่าง ๆ บุคคลเหล่านั้นเป็น
    ผู้ที่มีทักษะและความสามารถ  ซึ่งอาจจะไม่ได้เรียนมาจากโรงเรียน  ไม่มีประกาศนียบัตรการ
    แลกเปลี่ยนทักษะจัดตั้งเป็นศูนย์ขึ้นมาบริการประชาชน
  3. จัดคู่ระหว่างผู้ที่มีความสนใจคล้าย ๆ กัน  โดยการสร้างหน่วยงานสื่อสารขึ้นมา  ผู้ที่มาติดต่อจะให้รายชื่อของตนและความสนใจที่มีอยู่  เมื่อต้องการทราบว่ามีใครสนใจเรื่องเดียวกับเรา ก็สามารถค้นหาและติดต่อได้ ก็จะสามารถพบปะเพื่อแลกเปลี่ยนทักษะกันได้
  4. จัดให้มีนักการศึกษาอาชีพ ได้แก่  ครู  อาจารย์  นักการศึกษา  คอยให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน  โดยการให้คำแนะนำ  ให้รู้จักกำหนดความมุ่งหมาย รู้จักเลือกวิถีทางที่เหมาะสมให้กับตัวเอง

     แนวคิดเกี่ยวกับการเลิกระบบโรงเรียนนี้  ได้รับการวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง  สั่นสะเทือนวงการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง  เพราะอาจเข้าใจผิดว่า  การเลิกระบบโรงเรียนคือการไม่ต้องเรียนหนังสือ ซึ่งความจริงไม่ใช่เช่นนั้น  เพียงแต่ไม่มีโรงเรียน แต่มีหน่วยงานอื่น  และมีวิธีการต่าง ๆ ที่ทำให้คนทุกคนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง  ในประเทศไทยได้นำแนวคิดนี้มาจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน  ซึ่งเป็นส่วนที่เสริมการศึกษาในระบบโรงเรียน และในปัจจุบันการศึกษานอกระบบโรงเรียนได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง  แต่ก็ไม่เลิกล้มระบบโรงเรียนแต่อย่างใด


            
2.3 การศึกษาเพื่อสันติภาพ เป็นแนวคิดของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)

        พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต)  ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์แห่งสยาม  ท่านได้รับรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ (UNESCO  Prize  for  Peach  Education)  จากองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2537  เป้าหมายของรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพคือ การส่งเสริมกิจกรรมด้านต่าง ๆ ที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพในจิตใจของมนุษยชาติ โดยเน้นกิจกรรมดีเด่นเป็นตัวอย่างในการระดมพลังปลูกฝังจิตสำนึกของมวลมนุษย์ให้ใฝ่สันติภาพตามเจตนารมณ์ของธรรมนูญขององค์การยูเนสโก  (กรมการฝึกหัดครู,  2537 : 3)

        แนวคิดในการให้เกิดสันติภาพในใจของมนุษย์  พระธรรมปิฎกได้อุทิศตนเพื่อการทำงาน โดยมีเป้าหมายเพื่อความสุขที่แท้จริงของบุคคล  พยายามปลูกฝังให้คนมีจิตสำนึกความคิด การตัดสินใจและแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเอง  ท่านมีความคิดเห็นว่าการสร้างสันติภาพโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ด้วยวิธีทางการศึกษา แม้ว่าจะเห็นผลช้าไม่เหมือนกับการสร้างสันติภาพด้วยการยุติสงคราม  แต่ผลที่ได้รับจะถาวรมั่นคง  เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจจากการคิดวิเคราะห์ด้วยปัญญาอย่างมีเหตุผล  แนวคิดและงานนิพนธ์ของท่านมีอิทธิพลต่อบุคคลชั้นนำของประเทศในทุกวงการ ทั้งนักธุรกิจ นักการศึกษา นักการเมือง ผู้พิพากษา ครู นักเรียน 
นักศึกษาทุกระดับ  พระภิกษุ และ ชาวต่างประเทศในหลากหลายอาชีพจากทุกทวีป  ท่านมีบทบาทสำคัญในการจัดทำและพัฒนาหลักสูตรรายวิชา และเอกสารตำราเรียนทุกระดับชั้นตั้งแต่ประถมศึกษา  มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา

       ตามแนวทางของพระธรรมปิฎก  สันติภาพในระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ จะต้องเริ่มต้นในระดับบุคคลก่อน  โดยเริ่มต้นจะต้องรู้ว่าสันติภาพคืออะไร  ท่านกล่าวว่า  สันติภาพคือความสุข  กล่าวคือ บุคคลไม่มีความสุขย่อมไม่สามารถหาสันติได้เลย  และสันติภาพจะเกิดไม่ได้ถ้าไม่มีความสุข  ความสุขมี  2  ประเภท คือ ความสุขที่ขึ้นอยู่กับวัตถุ  และความสุขที่ไม่ขึ้นกับวัตถุ  แต่เกิดจากการพัฒนาตัวเอง  และความเป็นอิสระจากวัตถุทั้งหลาย  พระธรรมปิฎก  ได้จำแนกอิสรภาพออกเป็น  4  ลักษณะ คือ (กรมการฝึกหัดครู, 2537 : 13 – 15)

  1. อิสรภาพทางกาย  หมายถึง  อิสระจากความขาดแคลนพื้นฐานของชีวิต คือ ปัจจัย 4
  2. อิสรภาพทางสังคม  หมายถึง  อิสระจากความบีบคั้น กดขี่  และกดดันทางสังคม
  3. อิสรภาพทางอารมณ์  หมายถึง  อิสระจากความกดดันทางจิตและอารมณ์ เช่น ความโลภ  ความเศร้า  ความโกรธ ฯลฯ
  4. อิสรภาพทางปัญญา  หมายถึง  ความเป็นอิสระที่เกิดจากความเข้าใจในสัจธรรมแห่งธรรมชาติ  ซึ่งอำนาจแห่งเหตุผลได้รับการปลดปล่อยจากความเห็นแก่ตัวและอคติทั้งหลาย

     การพัฒนาใน  4  ลักษณะดังกล่าว  ต้องอาศัยการศึกษา โดยประยุกต์พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้แก้ปัญหา  ซึ่งสอนให้แก้ปัญหาด้วยการวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริง  และการเห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของสิ่งทั้งปวง ท่านได้นำคำสอนทางพระพุทธศาสนามาวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์  เทคโนโลยี  วิทยาศาสตร์และการเมือง  และท่านยังสามารถนำหลักทางวิทยาศาสตร์ไปใช้กับเนื้อหาที่ยังไม่เห็นได้ชัดในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น
จริยธรรม และศาสนา

     แนวคิดในเรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพของพระธรรมปิฎก  ปรากฏอยู่ในงานนิพนธ์ด้านเอกสารวิชาการและตำราต่าง ๆ มากมาย  หนังสือที่สำคัญที่สุด คือ หนังสือพุทธธรรมซึ่งถือว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่ง เพราะใช้ภาษาได้สละสลวยงดงาม  เป็นหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในประเทศไทย  ได้นำเอาหลักของพระพุทธศาสนา คือ อริยสัจ 4 มาขยายความให้ผู้อ่านเห็นแนวทางในการช่วยเหลือตนเองและสังคมให้มีสันติสุข  อีกเล่มหนึ่ง คือ ธรรมนูญชีวิต ได้ประมวลหลักธรรมทั่วไปในการดำเนินชีวิตให้เจริญก้าวหน้าประสบความสำเร็จ  บรรลุประโยชน์สุขโดยวิถีทางที่ชอบธรรม  ผลงานของท่านเป็นที่ยอมรับว่าสามารถทำให้เกิดสันติสุขในจิตใจมนุษย์และเมื่อเกิดสันติสุขแล้ว  สันติภาพก็จะเกิดตามมา



 
 
กลับหน้าก่อน      หน้าถัดไป
 
สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพร     
ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร 86190 โทร. 0-7753-4279 โทรสาร. 0-7753-4277