การเขียนจดหมาย
จดหมาย คือ การติดต่อสื่อสารที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรตามรูปแบบเฉพาะที่กำหนดไว้
ใช้เขียนติดต่อเมื่ออยู่ไกลกัน หรือไม่สามารถพูดคุยกันได้ จดหมายมีหลายประเภท
ดังนี้
๑. จดหมายส่วนตัว เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันในวงศ์ญาติ เพื่อน
ครูอาจารย์ ด้วยเรื่องต่าง ๆ
๒. จดหมายกิจธุระ เป็นจดหมายที่บุคคลเขียนติดต่อกับบุคคลอื่น
หรือบริษัทห้างร้านต่าง ๆ เพื่อแจ้งกิจธุระต่าง ๆ
๓. จดหมายธุรกิจ เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันระหว่างบริษัท ห้างร้าน
องค์การต่าง ๆ ในเรื่องการงานต่าง ๆ
๔. จดหมายราชการหรือหนังสือราชการ (รายละเอียดอยู่ในหน่วยการเรียนที่
๘)
ก. จดหมายส่วนตัว
จดหมายส่วนตัว คือจดหมายที่ผู้ส่งสารและผู้รับสารเป็นคนใกล้ชิด
อาจเป็นญาติสนิทหรือมิตรสหาย หรือผู้ที่รู้จักคุ้นเคย ภาษาสำนวนที่ใช้กันในจดหมายส่วนตัวอาจเป็นภาษาพูด
หรือภาษาที่ไม่ใช่มาตรฐานก็ได้ คำขึ้นต้นและคำลงท้ายไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่ตายตัว
เพียงแต่จะต้องระวังการใช้คำให้เหมาะสมกับฐานะของผู้ส่งสารและผู้รับสารเท่านั้น
หลักการเขียนจดหมายส่วนตัว มีดังนี้
๑. เขียนสื่อความหมายให้ชัดเจน
๒. ระมัดระวังการใช้ภาษาให้เหมาะสมกับฐานะความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนกับผู้รับ
๓. การใช้ถ้อยคำในจดหมายส่วนตัวไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว ต้องใช้ดุลพินิจของผู้เขียนเพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
๔. จดหมายส่วนตัวโดยทั่วไปใช้เขียนถึงคนที่รู้จักกัน แต่บางครั้งอาจเขียนถึงบุคคลที่ไม่รู้จักกันด้วยวัตถุประสงค์ต่าง
ๆ เช่น ถามปัญหา
๕. เมื่อได้รับจดหมายจากผู้ใดแล้วควรรีบตอบโดยเร็วที่สุด
ข. จดหมายธุรกิจ
จดหมายธุรกิจ
หมายถึงจดหมายที่มีไปมาระหว่างห้างร้าน บริษัท องค์กรเอกชน หรือบุคคลทั่วไป
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อติดต่อสื่อสารเพื่อการธุรกิจต่าง ๆ ให้ประสบความ
สำเร็จตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้ เช่น การสั่งซื้อของ การโฆษณาสินค้า
การทวงหนี้ หรือสอบถาม และ คอยสอบถามเรื่องราวต่าง ๆ การสมัครงาน
เป็นต้น การเขียนจดหมายประเภทนี้ต้องใช้ภาษาที่เป็นทางการ ระเบียบการเขียนมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน
คำขึ้นต้น คำลงท้าย ที่มีการกำหนดไว้อย่างแน่ชัด ข้อความที่ใช้ต้องรัดกุม
กระชับ สั้น แต่ได้ใจความ และสามารถสื่อสารกันได้ถูกต้อง
หลักการเขียนจดหมายธุรกิจ มีดังนี้
๑. ใช้ภาษามาตรฐาน
ถ้อยคำสำนวนสุภาพ กะทัดรัด ตัวสะกด การันต์ และเครื่องหมายวรรคตอนต่าง
ๆ ต้องถูกต้อง
๒. มีความสมบูรณ์ เนื้อความของจดหมายสามารถสื่อสารได้ถูกต้องครบถ้วน
ตามความประสงค์ของผู้เขียน
๓. มีความชัดเจน ภาษาที่ใช้เข้าใจความหมายได้ง่ายและถูกต้องตรงตามความต้องการ
ของผู้เขียน
๔. แสดงความระลึกถึงผู้อ่านเพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน
(สมพร มันตะสูตร แพ่งพิพัฒน์, ๒๕๔๐ : ๑๐๖)
ลักษณะจดหมายธุรกิจที่ดี ควรมีลักษณะ ดังนี้
๑.
ใช้กระดาษและซองคุณภาพอย่างดี มีมาตรฐาน
๒. วางรูปแบบถูกต้องตามแบบฟอร์มที่กำหนด
๓. มีความประณีตในการพิมพ์
๔. มีความสะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ
๕. ใช้ภาษาสุภาพ มีความถูกต้อง กะทัดรัด ชัดเจน
๖. มีเนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการสื่อสาร
การเขียนรายงาน
การเขียนรายงาน คือการเขียนที่เรียบเรียงขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้ความคิดหรือผลจากการศึกษาค้นคว้า
สำรวจ รวมทั้งเสนอแนวทางปฏิบัติงานเรื่องต่าง ๆ
การเขียนรายงานเชิงวิชาการ
คือการเขียนที่ผู้ศึกษาเขียนขึ้นเพื่อรายงานผลการศึกษา หรือผลการปฏิบัติงาน
เนื้อหาในรายงานจะเกี่ยวกับการศึกษา สำรวจ วิเคราะห์ วิจัย รวมทั้งการเสนอ
ข้อคิดเห็นและแนวทางการปฏิบัติงาน นักเรียน นักศึกษา ส่วนมากจำเป็นต้องเขียนรายงาน
โดยผู้สอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้รู้จักศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมนอกจากการศึกษาเล่าเรียนในชั้นเรียน
และโดยเฉพาะเป็นการเสนอวิทยาการใหม่ ๆ ที่ได้ค้นพบมาเผยแพร่
หลักเบื้องต้นในการเขียนรายงาน คือ
๑. ควรกำหนดหัวข้อในการเขียนรายงานให้อยู่ในขอบเขตของรายวิชาที่กำลังศึกษาอยู่
๒. ทำโครงร่างตามหัวข้อที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการค้นคว้า
๓. ค้นคว้า ศึกษาข้อมูล หลักฐาน เพื่อนำมาประกอบการเขียนรายงาน
ทำได้โดยการอ่าน การฟัง การสังเกต การสัมภาษณ์ การทดลอง
๔. นำข้อมูล หรือเรื่องที่ได้มาจัดลำดับให้เป็นไปตามโครงร่างที่วางไว้
๕. ลงมือเขียนรายงานตามรูปแบบที่นิยมใช้โดยทั่วไป เช่น
- หัวข้อเรื่องเขียนกลางหน้ากระดาษ
- หัวข้อสำคัญเขียนชิดขอบซ้ายมือ และขีดเส้นใต้
- ข้อย่อยต่อไปเขียนย่อหน้าไปประมาณ ๗ ตัวอักษร และถ้ามีหัวข้อย่อย
ๆ ก็จะย่อ
เข้าไปอีก ๓ ช่วงตัวอักษร
๖. การเขียนรายงานต้องมีหลักฐานประกอบ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
หรือแหล่งข้อมูล
ที่นำมาเขียนไว้ในรายงาน ผู้เขียนจำเป็นต้องเขียนเชิงอรรถ หมายถึงส่วนท้ายของหน้าที่เขียนบอกที่มาว่าเป็นของใคร
มาจากไหน ส่วนอัญประกาศ คือข้อความที่ผู้เขียนนำเอาข้อเขียนหรือคำพูดของ
ผู้อื่นมากล่าวไว้ในรายงาน
๗. ในรายงานนั้น ๆ ควรมีข้อสรุปความคิดเห็นของผู้เขียนเองว่าได้อะไรบ้าง
อาจมีการวิจารณ์และข้อเสนอแนะด้วยก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ลักษณะของเรื่องที่เขียน
๘. การใช้ภาษาในการเขียนรายงานต้องเป็นภาษาแบบทางการ กระชับ สละสลวย
(ทัศนีย์ ศุภเมธี, ๒๕๒๖ : ๑๒๘)
ส่วนประกอบของรายงาน
ส่วนประกอบของรายงานต่อไปนี้จะเป็นแบบแผนอย่างสากล ส่วนประกอบใหญ่
ๆ คล้าย ๆ กัน ในบางครั้งอาจพบความผิดแผกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับผู้เขียนแต่ละคนว่าจะเคร่งครัดเพียงใด
ดังนี้
๑. ปกรายงาน สิ่งที่ต้องมีอยู่ในปกรายงานคือ ชื่อเรื่อง ชื่อผู้เขียนรายงาน
และข้อความ
ตรงส่วนล่าง ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของรายวิชา ภาควิชาหรือคณะ
วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย
ภาคเรียนหรือภาคการศึกษา ปีการศึกษา
- ใบรองปก เป็นกระดาษเปล่าที่ไม่มีข้อความใด ๆ เลย อยู่ถัดจากปกนอกทั้งด้าน
หน้าและด้านหลัง มีไว้สำรองเมื่อปกนอกหลุดหรือฉีกขาด
- ปกใน คือส่วนที่ถัดจากใบรองปกด้านหน้าเข้าไป ใช้กระดาษเขียนรายงานธรรมดาจะเหมือนกับปกนอก
เพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เขียนลงไป
๒. คำนำ คือข้อเขียนที่ใช้กล่าวนำเรื่องรายงานเพื่อให้ทราบความเป็นมา
หรือจุดมุ่งหมายของการเขียนรายงาน บางครั้งอาจมีคำขอบคุณ ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนการทำรายงาน
๓. สารบัญ คือหน้าที่บอกหัวเรื่องในการรายงาน อาจแบ่งเป็นสารบัญเรื่อง
สารบัญภาพ สารบัญตาราง มีส่วนช่วยให้ผู้อ่านรู้หัวข้อของเนื้อหาในเล่มโดยไมต้องเปิดรายงานดูทั้งเล่ม
๔. บทนำ คือข้อความนำเรื่อง เพื่ออธิบายหรือทำความเข้าใจบางอย่างกับผู้อ่าน
เช่น
การอธิบายวิธีอ่านรายงาน การแบ่งเนื้อหา หรือวัตถุประสงค์ของการศึกษาเรื่องนั้น
ๆ
๕. หน้าบอกตอน คือหน้าที่บอกตอนหรือภาค จะมีในกรณีที่รายงานหรือวิทยานิพนธ์นั้น
มีความยาวและเสนอเรื่องด้วยการแบ่งออกเป็นตอนหรือภาค
๖. เนื้อหาของรายงาน หน้าแรก หรือหน้าที่ ๑ ของรายงานจะมีลักษณะพิเศษต่างจากหน้าอื่น
คืออาจขึ้นต้นด้วยคำว่า บทที่ ๑ ตอนที่ ๑ หรือขึ้นต้นด้วยชื่อเรื่องกลางหน้ากระดาษ
๗. ส่วนประกอบในเนื้อหา เนื้อหาของรายงานควรดำเนินไปตามโครงเรื่อง
และประกอบไปด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ
- คำนำหรือบทนำ เป็นข้อความเริ่มต้น บอกกล่าวให้ผู้อ่านได้เตรียมพร้อมที่จะรับรู้
ว่าเรื่องที่อ่านนั้นมีแนวทางหรือจุดมุ่งหมายอย่างไร
- เนื้อหา เป็นส่วนสำคัญที่สุดของรายงานและจะบรรยายรายละเอียดของความรู้ความคิดหรือผลการปฏิบัติงานไปตามโครงเรื่องแต่ละข้อที่ได้วางไว้แล้ว
หัวข้อในเนื้อหาจะตรงกับสารบัญทุก ๆ ข้อ
- บทสรุป จะมีลักษณะการเขียนหลายแบบ เช่น การเขียนสรุปเรื่องทั้งหมดไว้ในตอนท้าย
หรือเขียนเสนอแนะจากข้อมูลที่มีอยู่ในรายงาน หรือสรุปผลรายงานอย่างสั้น
ๆ หรือเขียนตอนจบรายงานโดยให้ผู้อ่านรู้เองว่าถึงตอนจบแล้ว หรือจบแบบลอยๆ
ไม่มีการลงท้าย
๘. ภาคผนวก คือส่วนของความรู้เพิ่มเติมที่ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านรู้
แต่บรรจุลงในส่วนของเนื้อหาไม่ได้ เพราะจะทำให้เนื้อหายาวและเยิ่นเย้อเกินไป
๙. บรรณานุกรม คือรายชื่อหนังสือ เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการเขียนรายงาน
เอกสารอ้างอิงในการเขียนบรรณานุกรมได้แก่ หนังสือ บทความในหนังสือ
วารสาร หนังสือพิมพ์ สารานุกรม วิทยานิพนธ์ จุลสาร เอกสารอัดสำเนา
และการสัมภาษณ์
หลักในการเขียนบรรณานุกรมลงรายการต่าง ๆ ตามลำดับและเครื่องหมายดังนี้
ชื่อผู้แต่ง. ชื่อเรื่อง. ครั้งที่พิมพ์.
(ถ้ามีพิมพ์ครั้งที่ ๒ ขึ้นไป) สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์,
ปีที่พิมพ์. |
สุภาพ รุ่งเจริญ. ภาษาไทยธุรกิจระดับ
ปวส. กรุงเทพฯ : ศูนย์ส่งเสริมวิชาการ, ๒๕๔๒. |
๑๐. ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับการเขียนรายงาน การเขียนรายงานนักศึกษาต้องค้นคว้าจากตำราหลายเล่ม
ในบางครั้งอาจจะได้พบศัพท์เฉพาะที่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่เกี่ยวข้อง
จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ศัพท์เหล่านั้นให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง
|