การให้ปฏิบัติจริงเป็นวิธีการวัดผลที่เหมาะสำหรับการวัดพฤติกรรมที่เป็นทักษะภาคปฏิบัติ เป็นการทดสอบเพื่อพิจารณาความสามารถในการทำงานได้ตามจุดมุ่งหมาย
การวัดผลภาคปฏิบัติกับความสามารถด้านทักษะพิสัยมีความสัมพันธ์กัน เพราะทักษะพิสัยเป็นความสามารถพื้นฐานของการปฏิบัติงาน การวัดผลภาคปฏิบัติในการทำงานเป็นการที่จะตรวจสอบความสามารถในการดำเนินงานทั้งในส่วนที่เป็นวิธีการดำเนินงานและผลงานที่เกิดขึ้นว่าสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และทักษะสะท้อนให้เห็นได้จากผลงาน ทักษะในการทำงานจึงเป็นคุณลักษณะที่เกิดจากความรู้ความคิดที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กัน การปฏิบัติงานจึงประกอบด้วย 2 ส่วน คือ การดำเนินงาน (Procedure) กับผลของงาน (Product)
ดังนั้นการให้การปฏิบัติจริงเป็นการวัดความสามารถที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้ง 3 ด้าน คือพุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย ซึ่งมีองค์ประกอบในการวัด มีดังนี้
1. ผู้ปฏิบัติงาน คือผู้แสดงผลงานและการกระทำ ซึ่งได้แก่ ผลผลิต หรือผลงานและวิธีการหรือการดำเนินงาน หรือผลรวมของผลงานและวิธีการที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน
2. งานที่กำหนดให้ปฏิบัติ ลักษณะของงานขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการสอบวัด ลักษณะของงานที่กำหนดให้เป็นสิ่งเร้าให้ผู้ถูกสอบวัดได้แสดงพฤติกรรมและผลงาน
3. ผู้วัดหรือผู้ประเมิน เป็นผู้สังเกตพฤติกรรมในการดำเนินงานและตรวจสอบผลงานซึ่งจะต้องกำหนดรายการในการตรวจสอบพฤติกรรมในการดำเนินงาน ขั้นตอน วิธีการ และผลผลิตลงในแบบบันทึกผล
จากองค์ประกอบในการวัดการพิจารณาการปฏิบัติงานจะต้องพิจารณาทั้งผลผลิตและวิธีการปฏิบัติ ดังนี้
การประเมินผลผลิต
ผลผลิตเป็นผลสุดท้ายที่ได้รับซึ่งจะต้องดูที่ปริมาณและคุณภาพของสิ่งนั้นว่าเป็นไปตามที่กำหนดหรือตามที่ได้วางมาตรฐานไว้หรือไม่ ควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้
1. คุณภาพที่ดีของผลผลิตประกอบด้วยคุณสมบัติอะไรบ้าง
2. คุณสมบัติแต่ละอย่างที่ดีนั้นเป็นอย่างไร
3. ผลผลิตที่ได้ พิจารณาคุณค่าแต่ละด้านเป็นอย่างไร
การประเมินวิธีการปฏิบัติ
วิธีการปฏิบัติเป็นกระบวนการของการกระทำจากการปฏิบัติที่กำลังดำเนินการ จะแสดงออกในรูปของขั้นตอนในการทำงานและการปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนตามวิธีการนั้น ๆ งานภาคปฏิบัติบางลักษณะ ผลผลิตและการปฏิบัติจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันนั่นคือการทำงานชนิดนั้น ๆ ไม่มีผลผลิตตกค้างอยู่ ถ้าต้องการดูผลผลิตนั้นซ้ำจะต้องใช้การถ่ายภาพเคลื่อนไหวได้ งานลักษณะนี้ ได้แก่ การร้องเพลง การเต้นรำ เป็นต้น ดังนั้นในการประเมินวิธีการปฏิบัติจึงต้องพิจารณาวิธีการกระทำตั้งแต่เริ่มต้น และดูว่าการกระทำแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จแค่ไหน ต้องพิจารณาให้แก้ไขเป็นขั้น ๆ ไป รวมถึงการพิจารณาด้านจิตใจด้วย ผู้ที่จะเป็นผู้ประเมินจะต้องกำหนดหลักการไว้ดังนี้
1. ศึกษาขั้นตอน ลำดับขั้น และวิธีการในการปฏิบัติงานที่จะประเมิน
2. ศึกษาว่าประสิทธิภาพของการทำงานในสิ่งที่จะประเมินนั้นหมายถึงอะไร มีสภาพการดำเนินงานอย่างไร
3. มีผลงานใดที่ปรากฏในแต่ละขั้น ผลงานที่สำคัญคืออะไร
4. ผู้ประเมินต้องมีประสบการณ์ในการที่จะพิจารณาพฤติกรรมของผู้ถูกประเมินและสามารถแปลความหมายของพฤติกรรมที่แสดงออกได้
5. สามารถเปรียบเทียบผลจากการสังเกตในการปฏิบัติของผู้ถูกประเมินกับเกณฑ์มาตรฐานได้
แนวทางในการเลือกสิ่งที่จะวัดและประเมินการให้ปฏิบัติจริง
1. กำหนดวัตถุประสงค์ของงาน จะต้องแจ้งให้เขารู้ว่าวัตถุประสงค์ของงานว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร รวมไปถึงเวลาในการทำ งบประมาณ วัตถุดิบที่จะใช้ และผลผลิตที่ต้องการ
2. กำหนดการดำเนินงาน เป็นการกำหนดขั้นตอนที่จะปฏิบัติแต่ละขั้นตอนว่าเป็นอย่างไร
3. กำหนดเงื่อนไข เป็นการกำหนดสถานการณ์ผู้ถูกประเมินจะต้องใช้ทักษะในทำนองเดียวกัน เพราะจุดประสงค์ของการวัดเพื่อต้องการวัดความสามารถในการปฏิบัติภายในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มุ่งไปสู่จุดหมายเดียวกัน
4. กำหนดคุณลักษณะของสิ่งที่จะประเมินให้ชัดเจน
5. กำหนดแบบบันทึกและคู่มือในการประเมิน โดยในคู่มือการประเมินต้องระบุถึงจุดมุ่งหมายของงาน คุณลักษณะที่จะประเมิน ความหมายของคุณลักษณะ รวมทั้งเกณฑ์ที่ใช้ในการให้คะแนนการประเมิน