ขั้นตอนของการเขียนรายงาน
   
     
  1. เลือกหัวข้อหรือเรื่องที่จะศึกษาค้นคว้า จัดเป็นขั้นตอนสำคัญที่ส่งผลกับความสำเร็จของการ
ทำรายงาน ในกรณีที่เป็นหัวข้อซึ่งครูผู้สอนกำหนดเรื่องให้ นักศึกษาต้องยอมรับและพยายามสร้างความรู้สึกที่ดี
กับหัวข้อนั้น เพื่อให้การศึกษาค้นคว้า เป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จลุล่วงได้
  2. สำรวจแหล่งความรู้และรวบรวมข้อมูล เมื่อได้หัวข้อหรือเรื่องที่จะศึกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ
การสำรวจแหล่งความรู้ต่างๆ ที่จะใช้ประกอบการเขียนโดยการสืบค้นจากเครื่องมือช่วยค้นที่มีการจัดทำเพื่อ
บริการและค้นคว้าข้อมูลที่มีการบันทึกไว้
  3. กำหนดโครงเรื่องที่จะศึกษา เพื่อช่วยลำดับความคิดและเป็นกรอบในการเขียนเนื้อหาไม่ให้เกิด
ความสับสน รวมทั้งเป็นภาพร่างของรายงานว่าจะมีรายละเอียดในหัวข้อใดบ้าง การวางโครงเรื่องที่ดีจะประกอบ
ด้วยหัวข้อใหญ่และหัวข้อย่อย ซึ่งได้จากข้อมูลที่มีการสำรวจเบื้องต้น
  4. อ่านและจดบันทึกข้อมูล เป็นขั้นตอนของการเลือกข้อมูลที่ใช้ในรายงาน ซึ่งได้จากการรวบรวม
ข้อมูลในข้อ 2 มาใช้โดยคัดเลือกเฉพาะเรื่องที่จะใช้ประกอบการเขียนตามหัวข้อต่างๆ ที่กำหนดไว้ในโครงเรื่อง
ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนของการอ่านและการจดบันทึก โดยมีแนวทางดังนี้
    การอ่าน
    เป็นกระบวนการหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าและเขียนรายงาน ซึ่งมีรายละเอียดที่ควรคำนึงเพื่อ
เป็นแนวปฏิบัติ ดังนี้
    1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่าน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้พื้นฐาน อ่านเพื่อรวบรวมข้อมูล
อ่านเพื่อหาแนวคิด อ่านเพื่อวิเคราะห์หรือวิจารณ์
    2. เลือกวิธีการอ่านที่เหมาะสม เช่น การอ่านสำรวจ การอ่านข้าม การอ่านผ่าน
การอ่านจับประเด็น การอ่านสรุปความ การอ่านวิเคราะห์
    3. การบันทึกข้อมูล เป็นกระบวนการที่เกิดจากการอ่าน การฟัง หรือการสังเกต แล้วนำสาระ
มาบันทึกเป็นเรื่องราวเพื่อเป็นเครื่องช่วยจำ ใช้ในการอ้างอิง หรือประกอบการเขียนงาน รวมทั้งเป็นเบาะแสใน
การนำกลับมาศึกษารายละเอียดใหม่เมื่อต้องการ
    ประเภทของการบันทึก
    จัดแบ่งตามลักษณะในการรับสารที่ประกอบด้วยการฟัง การสังเกต และการอ่าน การจดบันทึก
แต่ละประเภทจะมีรายละเอียดดังนี้
    1. การบันทึกจากการฟัง เป็นการรวบรวมและจดบันทึกเรื่องที่ได้รับจากการฟังประเภทต่างๆ
เช่น คำบรรยาย การประชุม การอภิปราย การสัมภาษณ์ เป็นต้น ซึ่งการฟังนี้อาจเป็นรายการสด ฟังจากแถบ
บันทึกเสียง ม้วนวิดีทัศน์ เป็นต้น และทำการจดสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการเขียนไว้โดยจัดเก็บอย่างเป็น
ระบบเพื่อให้การค้นหาได้รวดเร็วเมื่อต้องนำมาใช้งาน
    2. การบันทึกจากการสังเกต เป็นการรวบรวมและจดบันทึกเรื่องราวที่ได้จากการพบเห็น
ในชีวิตประจำวัน หรือในโอกาสพิเศษ เช่น การฝึกงาน การศึกษาดูงาน เป็นต้น การจดบันทึกประเภทนี้ต้อง
ทำด้วย ความรอบคอบโดยบันทึกส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง หากมีข้อมูลเป็นความคิดเห็นให้ระบุด้วยว่าเป็นความ
คิดเห็นของผู้ใด ข้อมูลจากการบันทึกที่ได้ด้วยการสังเกตจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการศึกษาที่มีการทำซ้ำ
เพราะมี ข้อมูลให้เปรียบเทียบด้านความแตกต่าง หรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
    3. การบันทึกจากการอ่าน เป็นการรวบรวมและจดบันทึกเรื่องราวที่ได้จากการอ่านในสื่อ
บันทึกรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ บทความในวารสาร จุลสาร กฤตภาค เป็นต้น การจัดบันทึกประเภทนี้ผู้อ่าน
ควรจดเฉพาะสาระสำคัญไว้และจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เพื่อสะดวกในการนำกลับมาทบทวนหรือใช้ประกอบ
การเขียน และการอ้างอิง
    วิธีการบันทึก
    การจดบันทึกจากรูปแบบต่างๆ มีหลักที่ควรปฏิบัติ คือ การกำหนดรูปแบบของการบันทึกข้อมูล
ซึ่งควรใช้เป็นรูปแบบเดียวกันตลอด และจดเฉพาะสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าและเขียน
รายงาน ในการบันทึกข้อมูลควรใช้ในกระดาษที่มีขนาดเดียวกัน บัตรบันทึกที่นิยมใช้ทั่วไปจะมี 2 แบบ คือ
ขนาด 4x6 นิ้ว หรือ 5x8 นิ้ว การใช้บัตรบันทึกที่มีขนาดเดียวกัน จะช่วยให้การจัดเรียงข้อมูลเป็นระเบียบและ
สะดวกในการจัดเก็บ หากการบันทึกข้อมูลในบัตรบันทึกไม่พอในแผ่นเดียวให้บันทึกต่อในแผ่นที่ 2 แผ่นที่ 3
จนกว่าจะได้ข้อมูลที่ต้องการครบถ้วน จึงเย็บมุมรวมไว้เป็นชุดเดียวเพื่อไม่ให้ข้อมูลกระจัดกระจายข้อมูลที่มีใน
บัตร-บันทึก นอกจากเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการเขียนแล้วต้องมีรายละเอียดทางบรรณานุกรมและสถานที่จัดเก็บ
เอกสารต้นฉบับ (เช่น เลขเรียกหนังสือ) เพื่อใช้สำหรับการกลับไปค้นหาตัวเล่มใหม่และต้องระบุเลขหน้าของ
เนื้อหาที่ตีพิมพ์ในเอกสารด้วย
     
     
     
8.1
  ประเภทของผลงานวิชาการ
8.2
ประโยชน์ของการศึกษาค้นคว้า
8.3
ขั้นตอนการเขียนรายงาน
     
     
     
     
     
     
   
   
  กลับหน้าหลักบทที่ 8